แน่นอนว่า ในกัรบาลานั้นทุกคนจะต้องถูกทดสอบ ซึ่งบททดสอบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นสำหรับพวกเรา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าในชีวิตของพวกเรานั้นจะไม่มีคำว่า ‘ฮัยฮาตมินนัซซิลละฮ์’ ความจริงมีคำนี้อยู่ในการใช้ชีวิตของเราตลอดเวลา และถ้าเรากล่าว ‘ฮัยฮาตมินนัซซิลละฮ์’ ตลอดไป จุดจบก็คือความตาย ผลลัพธ์คือความตาย ทว่าเป็นความตายที่ “สะอาดะฮ์” ความตายที่ทำให้เรานั้นเป็นผู้ประสพความสำเร็จรุ่งโรจน์
สมมุติว่า ชายคนหนึ่งชอบพออยู่กับสตรีคนหนึ่ง แต่เมื่อนางได้บอกแก่เขาว่า อย่าบังคับเธอให้คลุมฮิญาบ เวลานั่นแหละเขากำลังยืนอยู่บนจุดของการทดสอบ แล้วตรงนี้ก็อยู่ที่ว่าเขาจะกล่าว ‘ฮัยฮาตมินนัซซิลละฮ์’ หรือเขาจะไม่กล่าว? ถ้าเขาคือผู้ที่กล่าว ‘ฮัยฮาตมินนัซซิลละฮ์’ อย่างแท้จริง เขาก็จะบอกผู้หญิงคนนั้นว่า ผมจะไม่แต่งงานกับคุณ ถึงแม้ว่าคุณจะร่ำรวยสักเพียงใด หากคุณไม่คลุมฮิญาบ ผมก็จะไม่แต่งงานกับคุณ คำตอบนั้นของเขาหมายถึงเขากำลังนำเอาจิตวิญญาณแห่งกัรบาลามาคำว่า ‘ฮัยฮาตมินนัซซิลละฮ์’ มาใส่ไว้ในชีวิตของเขาแล้ว
กัรบาลา สอนให้มนุษย์เลือก และพิสูจน์การเลือก เพราะการที่จะเลือกเป็นสะอีด ย่อมมีราคามีค่างวด ทุกครั้งที่มนุษย์ทำสิ่งที่ถูกต้องมักจะต้องเกิดผลกระทบทางผลประโยชน์ของมนุษย์ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ อาจมีกระทบน้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ผลกระทบก็มาก ทว่าผลรางวัลก็ย่อมยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ‘ฮัยฮาตมินนัซซิลละฮ์’ ที่แท้จริง ก็คือสำหรับผู้สัจจริงเท่านั้นที่มีสิทธิจะกล่าว นั่นคือเรื่องราวของกัรบาลา
และ ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ก็เป็นผู้หนึ่งที่เคยกล่าวคำนี้มาแล้ว เบื้องต้นเมื่อท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ลุกขึ้นต่อสู้กับชาฮ์ เวลานั้นนับว่าท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ห่างไกลจากความสำเร็จอย่างมาก อิมามโคมัยนี (รฎ.) ประสบความสำเร็จหลังจากผ่านไป 23 ปี ของการถูกเนรเทศ ของการต่อสู้ต่างๆ ในปีต้นๆ ชาฮ์เริ่มเป็นห่วงแล้วว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็จะเกิดอันตราย แต่ตอนนั้นชาฮ์ก็ยังไม่เชื่อว่า อิมามโคมัยนี (รฎ.) จะเอาชนะเขาได้ แต่ก็มีความหวาดกลัว ไม่ต้องการที่จะให้มีสิ่งมารบกวนจิตใจบั่นทอนอำนาจบั่นทอนเกียรติยศ ชาฮ์จึงได้ส่งคนไปพบอิมามโคมัยนี (รฎ.) โดยเสนอเงินจำนวนหนึ่ง ในยุคนั้นก็ถือว่ามีมูลค่ามหาศาล เพื่อแลกกับการขอให้อิมามโคมัยนี (รฎ.) หยุดการกระทำของท่านเสีย และขอให้ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) นั้นออกจากประเทศไป
และชาฮ์ก็ได้บอกว่า “ท่านไม่มีวันที่จะชนะฉันได้หรอก” แน่นอนว่า ข้อเสนอนี้ของชาฮ์ สำหรับอิมามโคมัยนี (รฎ.) นั้นนับว่าเป็นการทดสอบที่อ่อนด้อยอย่างมาก เพราะสำหรับบุคคลากรแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้น ทรัพย์สินเงินตราเหล่านี้ไร้ค่าอย่างสิ้นเชิง กระนั้น ข้าพเจ้าใคร่จะบอกว่า มิใช่ว่าชาฮ์จะไม่เคยเสนอทรัพย์สินเงินตราจำนวนมหาศาลเช่นนี้แก่อุลามาอ์อื่นๆ แล้วก็อย่าได้นึกว่าจะไม่มีอุลามาอ์คนใด จะเลือกเงินทองก้อนมหาศาลนี้
หากความจริงแล้ว มีอุลามาอ์บางคนที่อัปยศยิ่งกว่านี้เสียอีก เพราะอุลามาอ์ชีอะฮ์นี่แหละเพียงแค่ได้แหวนวงเดียวจากชาฮ์ ก็ได้สรรเสริญชาฮ์เสียแล้ว!! อุลามาอ์บางคนเลือก ‘ซิลละฮ์’ (ความอัปยศ) ด้วยแหวนเพียงแค่หนึ่งวง หรือการส่งเงินมาให้ใช้ทุกเดือนจากชาฮ์ เท่านั้นเอง ! ทว่า อิมามโคมัยนี (รฎ.) ได้บอกกับชาฮ์ว่าอย่างไร? เมื่อชาฮ์เสนอเงินก้อนมหาศาลให้ อิมามโคมัยนี (รฎ.) ได้ตอบว่า “ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอเงินให้เจ้าจำนวนมากถึง ‘สองเท่า’ ที่เจ้าเสนอมาให้ข้าพเจ้า แล้วขอให้เจ้าออกไปจากประเทศนี้เสีย คนในประเทศนี้ไม่ต้องการเจ้า !! ชาฮ์ได้ย้อนถามว่า อิมามโคมัยนี (รฎ.) มีเงินทองขนาดนั้นหรือ เงินจำนวนมหาศาลท่านจะเอามาจากไหน? อิมามโคมัยนี (รฎ.) บอกไปว่า “มีซิ… จะเอาไหม ฉันจะเอากล่องรับบริจาคมาตั้งแล้วให้ประชาชานช่วยกันบริจาค เพื่อรวบรวมเงินให้ชาฮ์ออกไปจากประเทศนี้ ถ้าฉันสามารถรวบรวมได้ตามจำนวนที่เสนอ ก็ให้เจ้าออกไปจากประเทศนี้ !!”
บางครั้งการเสนอเงินตรามาให้ ก็คือ การนำความซิลละฮ์ (อัปยศ) ให้กับมนุษย์ และมนุษย์จำนวนมาก ยอมความอัปยศด้วยเงินเหล่านั้น นักเรียนศาสนาบางคนตอนที่ยังเรียนอยู่ในประเทศอิหร่าน เป็นคนที่ “โคมัยนีจ๋า… วิลายะตุลฟะกิฮ์จ๋า…” แต่วันดีคืนดี เมื่อกลับมาอยู่ประเทศของพวกเขา ก็อาจมีอีกฝ่ายหนึ่งนำเสนอผลประโยชน์ ทำให้เรื่องวิลายะตุลฟะกิฮ์เริ่มไม่ชัดเจนแล้ว !! เริ่มจะไม่มุฎลักแล้ว !! นั่นคือการยอมรับความอัปยศแล้ว !
นี่คือ มนุษย์ที่อัปยศที่สุด โดยเฉพาะบุคคลที่ขายศาสนาเพื่อดุนยาของคนอื่น ! อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “มนุษย์ที่อัปยศที่สุด คือ บุคคลที่ขายศาสนา เพื่อดุนยา ของคนอื่น” นี่ก็เป็นอีกวาทกรรมของอิมามอะลี (อ.) ที่สูงส่งยิ่ง หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่า คนที่ขายศาสนาเพื่อตัวของเขาเอง เช่น บนีอุมัยยะฮ์ มันขายศาสนาเพื่อให้ตนเองได้เป็นใหญ่นั้น ก็อัปยศพอแล้ว แต่ก็ยังไม่อัปยศที่สุด ยะซีด ที่บิดเบือนศาสนาอิสลาม ยอมเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ คือการขายศาสนาทำผิดต่อศาสนา แต่เป็นการขายศาสนาเพื่อดุนยาของตัวมันเอง แปลว่าให้ตัวเองได้เป็นใหญ่ มีอำนาจเป็นคอลีฟะฮ์ หรืออะไรก็ตาม
บุคคลเหล่านี้ทางศาสนาถือว่า ก็อัปยศอยู่แล้ว แต่อิมามอะลี (อ.) บอกว่าที่อัปยศกว่านั้น ก็คือคนที่ขายศาสนาเพื่อดุนยาของผู้อื่น ก็คือบรรดาอุลามาอ์ผู้รู้ที่ขายตัว หรืออุลามาอ์ราชสำนักที่ฟัตวาสนับสนุนการปกครองของผู้อธรรม ให้ผู้อื่นได้เป็นใหญ่ ขายดีนของตัวเองเพื่อให้ผู้อื่น โดยแลกกับผลตอบแทนเพียงแค่ไม่กี่เศษสตางค์เท่านั้น !! แน่นอน ! การทดสอบมีอยู่หลายรูปแบบ และผู้ที่พร้อมที่จะขายศาสนาของตนเองให้ดุนยาของคนอื่นนั้นยิ่งใหญ่ นั่นคือมนุษย์ที่อัปยศที่สุด นั่นคือ “ชะกีย์” ในมุมมองของอิสลาม !!
บุคคลที่เลือกสิ่งที่ถูกต้องก็จะต้องจ่ายราคาค่าเลือกของมัน พี่น้องในแนวทางอื่นที่จะมาเป็นชีอะฮ์ ก็จะต้องจ่ายราคาค่างวด เพราะเขาได้เลือกสิ่งที่เป็นสะอาดะฮ์ สิ่งที่เป็นความรุ่งโรจน์ เรากำลังจะเป็น ‘สะอีด’ และผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้นเขาจะได้อยู่ในสรวงสวรรค์ แต่สวรรค์จะต้องแลกด้วยความทุกข์ เหมือนกับเหรียญ ด้านหนึ่งคือความสุขอีกด้านหนึ่งคือความทุกข์ ใครที่เขาเลือกสวรรค์ในโลกหน้าเขาก็ต้องยอมรับความทุกข์บนโลกนี้ ไม่มีใครเลือกสวรรค์แล้วมีความสุขบนโลกนี้ เพราะท่านศาสดามุฮัมมัด (ซล.) บอกว่า “อินนะญันนะฮ มะฮฟูซะฏิน บิลกะรอฮะฮ” ความหมายของคำว่า ‘กะรอฮะฮ์’ คือสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่อยากให้คนด่า ไม่อยากให้ถูกว่า ไม่อยากให้คนมาประณาม พัฒนาไปจนไม่อยากจะถูกฆ่า ซึ่งแน่นอนว่า อยู่ดีๆ คงไม่มีใครอยากถูกฆ่า
แต่พึงรู้เอาไว้เถิดว่า บางครั้งถ้าจะเข้าสวรรค์ก็ต้องยอมสูญเสียเศรษฐกิจ เงินทอง ถูกประณาม ถูกเกลียด ถูกดูหมิ่นดูแคลน และสำหรับบางคนถ้าจะเข้าสวรรค์นั้นก็ต้องถูกฆ่า !! และเหตุการณ์ในกัรบาลาวันนั้น จะเข้าสวรรค์ด้วยหนทางอื่นไม่ได้อีกแล้ว ต้องเข้าด้วยหนทางนี้ทางเดียวเท่านั้น !! สถานการณ์ช่วงนั้นของอิมามฮุเซน (อ.) แม้นจะปฏิบัตินมาซแต่หากไม่ได้ไปกัรบาลาก็จะไม่ได้เข้าสวรรค์ !! แม้นไปประกอบพิธีฮัจญ์แต่ถ้าหากไม่ไปกัรบาลาก็ไม่ได้ขึ้นสวรรค์ !! วันนั้นสวรรค์ต้องผ่านที่กัรบาลาเท่านั้น !! ประตูสวรรค์ อยู่ที่กัรบาลา !! เราจะเห็นว่า ท่านอิมามฮุเซน (อ.) หันหลังให้กับกะบะฮ์ ตรงนั้นไม่ใช่เลือกง่ายๆ พี่น้อง….. !! แต่…เป็นการเลือกความตาย พี่น้อง…… !!
การเลือกสวรรค์คือการเลือกความตาย พี่น้อง….. !! ถ้าปฏิเสธความตาย เท่ากับปฏิเสธสวรรค์ และการปฏิเสธนั้น ก็คือการเลือกความอัปยศ !! และเป็นความอัปยศทั้งโลกนี้และโลกหน้า !! ดังนั้น แน่นอนว่า เหล่าวีรชนเขาย่อมปฏิเสธความอัปยศ เพราะในวันกิยามะฮ์นั้นเหลืออยู่แค่สองจำพวกเท่านั้น พวกหนึ่งจะตกนรก และอีกพวกหนึ่งได้ไปยังสวรรค์ และวันนั้น วันแห่งการปฏิวัติของอิมามฮุเซน (อ.) ถ้าเขาเป็นวีรบุรุษ จะต้องตายเท่านั้น…ถ้าเขาเป็นวีรสตรี ก็จะต้องยอมรับความทุกข์ทรมาน… ที่สุดแล้วที่กัรบาลาวันนั้น ทั้งวีรบุรุษและวีรสตรีล้วนมาด้วยความเต็มใจทั้งหมด
วีรสตรีแห่งกัรบาลาบางคนล้ำหน้าสามีไปหนึ่งก้าว เช่น ภรรยาบางคนเห็นสามียังอยู่ในกูฟะฮ์ อยู่กับลูกในห้องนอน ภรรยาเมื่อทราบข่าวว่า ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถูกปิดล้อมอยู่ที่กัรบาลา ก็ได้มาบอกกับสามีว่า “ในขณะที่ลูกๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซล.) ถูกปิดล้อมอยู่ที่กัรบาลา ยามนี้ท่านยังมีความสุขอยู่กับลูกๆ กับภรรยาของท่านอยู่อีกหรือ??” คำนี้เพียงคำเดียว ทำให้สติของสามีนั้นกลับคืนมา แล้วก็พาลูกๆ และภรรยาออกไปสู่กัรบาลาทันที และทั้งครอบครัวก็เป็น ‘สะอีดะฮ์’ บทบาทระหว่างวีรบุรษและวีรสตรีในกัรบาลาไม่มีความแตกต่างกัน แน่นอนสวรรค์มักคู่กับความไม่ถูกใจ ความเจ็บปวด และทรมาน หากต้องการที่จะได้รับสวรรค์ก็ต้องทนรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด
แน่นอนว่า ในกัรบาลาช่วงนั้นย่อมเป็นวันเวลาแห่งความทุกข์ทรมาน และหนึ่งเหตุการณ์วันนั้นซึ่งเป็นที่ทุกข์ทรมานที่สุด สำหรับทั้งบุรุษและสตรี ก็คือ ยามที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กลับมาสู่กระโจมของเด็กๆ และสตรี หลังจากที่ไม่เหลือใครอีกแล้ว ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น อิมามฮุเซน (อ.) ก็ไม่ต้องการที่จะทิ้งให้เด็กๆ ต้องเผชิญโชคชะตาที่นี่ตามลำพัง ในสถานที่ซึ่งไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของเด็กๆ แน่นอนว่า กระทั่งปุถุชนธรรมดาก็ไม่มีใครต้องการทำสิ่งนี้ ทว่า เมื่อพระองค์อัลเลอฮ์ (ซบ.) ประสงค์ที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้
ดังนั้นการร่ำลาจึงได้เกิดขึ้น ท่านได้เรียกบรรดาเด็กๆ ลูกหลานทุกคนมาหา แต่ละคนได้รับการจุมพิตจากท่านอิมามฮุเซน (อ.) จนกระทั่งได้ลากับท่านหญิงซัยนับ (อ.) เป็นคนสุดท้าย ท่านหญิงได้สวมกอดท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นเวลายาวนาน โดยไม่ได้เคลื่อนไหว พี่น้องครับ !! การร้องไห้ของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ทำให้เสื้อของอิมามฮุเซน (อ.) นั้นเปียกชุ่ม แต่แล้ว จู่ๆ ก็มีน้ำหยดหนึ่งหยดลงมาบนใบหน้าของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ซึ่งทำให้ท่านหญิงตกใจคิดว่าอิมามฮุเซน (อ.) ก็ร้องไห้ด้วย ทว่าเมื่อท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้แหงนหน้าขึ้นมองจึงพบว่า เป็นหยดเลือดที่หยดออกมาจากริมฝีปากที่แห้งผากของท่านอิมามฮุเซน (อ.) !!
พี่น้อง….. ! โปรดลองตรองดูเถิดว่า มนุษย์คนหนึ่งจะต้องอดน้ำถึงเพียงใดกัน จนทำให้ริมฝีปากนั้นแห้งผากจนแตกกลายเป็นหยดเลือด !! ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ก็ได้นำผ้าเช็ดไปที่ริมฝีปากของท่านอิมามฮุเซน (อ.) แล้วสองพี่น้องก็ลากันอีกครั้งหนึ่ง และเมื่ออิมามฮุเซน (อ.) จะลาอย่างจริงจัง จึงเรียกบรรดาเด็กๆ แล้วสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายว่า “หลังจากที่ฉันออกไปแล้ว พวกเจ้าทุกคนจะต้องอยู่ในกระโจม อย่าได้ออกมา” ซัยนับ…เจ้าอย่าออกมา! รูกัยยะฮ์…อย่าออกมา! สุกัยนะฮ์… อย่าออกมา ! อุมมุกุลซูม..อย่าออกมา! ทุกๆ คนอย่าออกมานอกกระโจม….. !!
เมื่อทุกคนสัญญาว่าจะไม่ออกมานอกกระโจม อิมามฮุเซน (อ.) ก็ได้ออกไปยังสนามรบ เมื่อท่านออกไปได้สักพักหนึ่ง ก็กลับมายังเนินหนึ่ง แล้วพูดด้วยเสียงอันดังว่า لاحول ولا قوة إلا بالله แล้วจึงกลับไปสู่สนามรบอีกครั้ง เมื่อเด็กๆ ได้ยินเสียงนั้น ก็สบายใจว่า ท่านอะบาอับดิ้ลลฮ์ (อ.) ยังมีชีวิตอยู่ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) สู้รบได้สักพักหนึ่ง ก็จะขี่ม้าวนกลับมาที่เนินดังกล่าว แล้วร้องว่า لاحول ولا قوة إلا بالله เพื่อยืนยันให้กับเด็กๆ รู้ว่าท่านยังอยู่ เด็กๆ ที่อยู่ในกระโจมก็สบายใจ เมื่อรู้ว่า ท่านอะบาอับดิ้ลละฮ์ (อ.) นั้นยังคงมีชีวิตอยู่ จนระยะเวลาผ่านไปได้ไม่นาน เสียง “لاحول ولا قوة إلا بالله ” เริ่มหายไป ซึ่งในขณะนั้นเด็กๆ ทุกคนไม่ได้รอฟังเสียงอะไรเว้นแต่เสีย “لاحول ولا قوة إلا بالله ” ของอะบาอับดิ้ลละฮ์ (อ.) เท่านั้น
ยิ่งนานไปเด็กๆ ก็เริ่มมีท่าทีสงสัยว่า ทำไมอิมามฮุเซน (อ.) จึงไม่กลับมา อ่านดุอาอ์บทนี้ แต่ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้บอกกับเด็กๆ เหล่านั้นว่า ไม่เป็นไร อะบาอับดิ้ลละฮ์ จะกลับมา แต่อาจจะกลับมาช้าหน่อยเท่านั้นเอง ทว่า เมื่อยิ่งนาน…ยิ่งนาน…และยิ่งนาน… ก็ได้สร้างความกังวลใจ แม้แต่นายหญิงแห่งคาราวาน อย่างท่านหญิงซัยนับ (อ.) เอง เด็กๆ ก็เริ่มร้องไห้ ถามท่านหญิงซัยนับ (อ.) ว่า “ป้าจ๋าทำไมเสียง ‘لاحول ولا قوة إلا بالله ” ของอะบาอับดิ้ลละฮ์ (อ.) จึงได้หายไป?
ท่านหญิงซัยนับ (อ”) จึงบอกกับลูกหลานว่า พวกเจ้าจงรักษาสัญญานะ พวกเจ้าต้องอยู่ในกระโจมนะ เดี๋ยวป้าจะออกไปดูว่า ทำไมเสียง ‘لاحول ولا قوة إلا بالله ’ จึงไม่กลับมา ท่านหญิงซัยนับ (อ.) จึงได้วิ่งไปที่เนินนั้น ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่าเนินท่านหญิงซัยนับ (อ.) เมื่อท่านหญิงซัยนับ (อ.) ไปยืนที่เนินแห่งนั้นเพื่อจะมองไปยังสนามรบ แต่ท่านหญิงกลับไม่เห็นการเคลื่อนไหวของการรบใดๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้เห็นก็มีเพียงแต่ คนกลุ่มหนึ่งกำลังล้อมวงอะไรอยู่สักอย่างหนึ่ง ท่านหญิงซัยนับ (อ.) จึงสงสัยว่า พวกเขากำลังล้อมวงทำอะไรกันอยู่? เมื่อท่านหญิงได้เดินเข้าใกล้ขึ้นไป ก็เห็นว่าคนเหล่านั้นกำลังยกมือขึ้น… ยกมือขึ้นลง… !!
และเมื่อท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้เข้าใกล้ขึ้นไปอีก ก็เห็นว่า พวกเขายกมือทำอะไรกัน !! สิ่งท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้เห็น ก็คือ มือที่ยกขึ้นยกลงของบรรดานักรบเหล่านั้น…บ้างก็มีดาบอยู่ในมือ…บ้างก็มีหอกอยู่ในมือ…บ้างก็มีท่อนไม้อยู่ในมือ…. พี่น้อง….. !! และ…ที่กำลังยกขึ้นยกลงกระหน่ำไปยังสิ่งหนึ่งภายในวงล้อมนั้น… พี่น้อง….!! ท่านหญิงซัยนับ (อ.) เริ่มเข้าใจแล้วว่า ไฉนมือเหล่านั้นถึงต้องยกขึ้น….ยกลง….?? และท่านก็เริ่มรู้แล้วว่า ไฉนเสียง ‘لاحول ولا قوة إلا بالله ’ จึงไม่กลับมาดังที่ใกล้กระโจมของเด็กๆ… !! นั่นเพราะบุคคลที่อยู่ในวงล้อมซึ่งกำลังถูกกระหน่ำด้วยดาบ หอก และท่อนไม้ คือร่างของ อะบาอับดิ้ลลาฮิลฮุเซน (อ.)…….. ! “لاحول ولا قوة إلا بالله ”
โดย ท่าน ซัยยิด สุไลมาน ฮุซัยนี