ในวันกิยามัตมนุษย์มีเพียงสองกลุ่ม คือ “ชะกีย์” และ “สะอีด”

1170

เพราะในวันกิยามัตนั้น มนุษย์ถูกแบ่งออกเป็นสองจำพวกเท่านั้น กล่าวคือ ไม่ว่า กาเฟร มุอ์มิน มุชริกิน ฯลฯ อะไรก็ตามแต่ หากแต่ที่จริงแล้วในอัลกรุอานชี้ว่า พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) แบ่งมนุษย์ออกสองจำพวกเท่านั้น พระองค์ได้ทรงมีตรัสไว้ในซูเราะฮ์ฮูด โองการที่ 105-108 ว่า

يَوْمَ يَأْتِ لاَ تَكَلَّمُ نَفْسٌ إِلاَّ بِإِذْنِهِ فَمِنْهُمْ شَقِيٌّ وَسَعِيدٌ فَأَمَّا الَّذِينَ شَقُواْ فَفِي النَّارِ لَهُمْ فِيهَا زَفِيرٌ وَشَهِيقٌ خَالِدِينَ فِيهَا مَا دَامَتِ السَّمَاوَاتُ وَالأَرْضُ إِلاَّ مَا شَاء

رَبُّكَ إِنَّ رَبَّكَ فَعَّالٌ لِّمَا يُرِيدُ وَأَمَّا الَّذِينَ سُعِدُواْ فَفِي الْجَنَّةِ خَالِدِينَ فِيهَا مَا دَامَتِ السَّمَاوَاتُ وَالأَرْضُ إِلاَّ مَا شَاء رَبُّكَ عَطَاء غَيْرَ مَجْذُوذٍ

“วันที่เมื่อมันมาถึงไม่มีชีวิตใดจะพูดได้เว้นแต่โดยอนุมัติของพระองค์ ดังนั้นในหมู่พวกเขาจะมีผู้อัปยศ และผู้ประสพความสำเร็จ” (105) “ดังนั้น สำหรับบรรดาผู้อัปยศก็จะอยู่ในนรก สำหรับพวกเขาที่อยู่ในนั้นคือ การถอนหายใจและการสะอื้น” (106) “พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล ตราบเท่าที่ชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินยืนยงเว้นแต่ที่พระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แท้จริงพระเจ้าของเจ้าเป็นผู้กระทำโดยเด็ดขาดตามที่พระองค์ทรงประสงค์” (107) “และสำหรับบรรดาผู้ประสพความสำเร็จก็จะอยู่ในสวนสวรรค์ พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาลตราบเท่าที่ชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินยืนยัง เว้นแต่ที่พระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ เป็นการประทานให้โดยปราศจากการตัดทอน” (108)

ในวันกิยามัตมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็นสองจำพวก หลังจากนั้นสองจำพวกนี้ก็จะถูกแบ่งออกไปอีก เป็นมุนาฟิก เป็นฟาซิก เป็นมุชริก แต่เบื้องต้นแบ่งเป็นสองจำพวกก่อน ในกุรอานแบ่งเป็นสองพวกแบบไหนอย่างไร? จำพวกหนึ่งคือ ‘สะอีด’ และอีกจำพวกหนึ่งคือ ‘ชะกีย์’ ในคัมภีร์อัลกรุอานได้บอกไว้อย่างชัดแจ้งว่า วันหนึ่งจะมาถึง วันแห่งการตัดสินจะมาถึง เมื่อวันนั้นมาถึงไม่มีชีวิตใด ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะพูด เว้นแต่พระองค์จะอนุญาตให้พูด และในวันกิยามัตมนุษย์จะถูกแบ่งเป็นสองจำพวก คือ “สะอีด” กับ “ชะกีย์” ชะกีย์ คือ ผู้ที่อัปยศ สะอีด คือ ผู้ที่ประสพความสำเร็จรุ่งโรจน์

“สะอีด” ของคนบางคนเป็นนบี เป็นวะลีย์ เป็นวะศีย์ เป็นมุอ์มิน และ สะอะดะฮ์ของคนบางคน อินชาอัลลอฮ์ คือคนที่ได้รับการอภัยโทษจากพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ก็คืออยู่ในสรวงสวรรค์ “ชะกีย์” คือ กาเฟร มุนาฟิก ฟาซิก คนจำพวกนี่คือ ชะกีย์ คนจำพวกนี้ในวันกิยามัตเขาเป็นคน อัปยศ ชะกีย์ มีที่พำนักอยู่ในนรก และจะอยู่ในนั้นจนชั่วฟ้าดินสลาย ซึ่งคำพูดนั้นเป็นคำพูดในเชิงโวหาร หมายความว่าอยู่ในนั้นตลอดไป นอกจากพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงให้อภัย บรรดา “สะอีด” คือบุคคลที่อยู่ในสรวงสวรรค์ ดังนั้นทำอย่างไรในโลกนี้ที่เราจะได้เป็นสะอีด เราจะได้กลับไปในโลกหน้าอย่าง “สะอีด” นี่คือสิ่งที่เราจะต้องรู้ว่าใคร คือผู้ที่จะประสบความสำเร็จในโลกนี้

คนที่จะพบกับสะอาดะฮ์ มันไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายดาย ไม่ใช่ว่าคนๆ หนึ่ง ได้อ่านอัลกุรอาน ได้ถือศีลอด ได้ปฏิบัตินมาซครบทุกเวลาแล้ว เขาจะได้เป็นสะอีด เพราะในกัรบาลา เมื่อพวกเขาได้สังหารอิมามฮุเซน (อ.) แล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็ไปนมาซบนมัสญิด การนมาซวันศุกร์ของบนีอุมัยยะฮ์นั้นมีการสาปแช่ง อะฮ์ลุลบัยต (อ.) ดังนั้น “ชะกีย์” ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่ปฏิบัตินมาซ!! พวกเขาก็ปฏิบัตินมาซ พวกเขาถือศีลอด พวกเขาอ่านอัลกุรอานด้วยเช่นกัน ! เช่น พวก “คอวาริจญ์” เป็นที่รู้กันว่าพวกเขามีสองคุณลักษณะเด่นด้วยกันคือ นมาซยามค่ำคืน และ ถือศีลอดในตอนกลางวัน พวกคอวาริจญ์ คือบุคคลที่ในยามค่ำคืนอยู่กับการนมาซตะฮัจญุด ในตอนกลางวันอยู่กับการถือศีลอด

แต่สี่งเหล่านั้นไม่ใช่บทพิสูจน์ว่าพวกเขาจะเป็นคนดี เป็นผู้ประสพความสำเร็จ “สะอีด” เสมอไป เนื่องจากจุดจบของพวกเขา (คอวาริจญ์) คือ ผู้อัปยศ “ชะกีย์” ทั้งนี้การปฏิบัติเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดี ทว่าสิ่งสำคัญที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามนุษย์คนไหนจะเป็น “สะอีด” หรือ “ชะกีย์” จะพบกับ “ความสำเร็จ” หรือ “ความอัปยศ” ก็ต่อเมื่อเขาผ่านการทดสอบในเรื่องต่างๆ จนกระทั่งเขาผ่านการทดสอบอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นแหละเขาคือผู้ประสบความสำเร็จ ท่านอิมามญะฟัร ซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “อย่าดูคนหรือตัดสินคนที่การกระทำอิบาดะฮ์ของเขา”

ถ้าจะดูว่าเขาคือผู้ที่ประสพความสำเร็จหรือไม่ อิมามญะฟัร ซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า ให้ดูที่พฤติกรรมของเขาว่าตรงกับคำสั่งสอนของอิสลาม ตรงกับข้อเสนอ ข้อเรียกร้องในอิสลามหรือไม่ แสดงว่าอามัล และพฤติกรรมของเขานั้นคือของจริง ที่บ่งบอกตัวตนของเขา สำหรับแต่ละคนในขั้นตอนของการทดสอบ อิมามญะฟัร ซอดิก (อ.) กล่าวว่า ดูที่เขาพูดว่าเขานั้นพูดจริงไหม? ถ้าเขาพูดโกหก อามัลของเขาคือโกหก

ถ้าเขาไม่กล้าพูดความจริงแสดงว่าเขานั้นโกหก เมื่อเขาไม่พูดความจริงแสดงว่าเขานั้นเลือกความอัปยศ เมื่อเขาได้รับอามานะฮ์เขาจะต้องรักษาอามานะฮ์นั้นไว้ ถ้าเขาเป็นคนที่ไม่รักษาอามานะฮ์ แสดงว่าอิบาดะฮ์ต่างๆ ของเขาที่ทำมากมาย คือการโกหกทั้งสิ้น เขามีความเอื้ออาทรไหม? เขามีความเมตตาไหม? เขาเอาเปรียบคนไหม? คนที่ทำนมาซถ้าหากยังเอาเปรียบคนอีกแสดงว่า นั้นคือคนโกหก ถ้ายังทำร้ายผู้อื่น แสดงว่าการนมาซการอิบาดะฮ์ของคนๆ นั้นโกหกทั้งนั้น

ถ้าเขาเลือกทำสิ่งที่ตรงข้ามกับคำสั่งสอนของอิสลาม อามัลของเขาทั้งหมดก็ไร้คุณค่า มนุษย์เมื่ออยู่ในระหว่างการเลือกสิ่งสองสิ่งนี้ เขาจะเป็นผู้สัจจริงหรือไม่ใช่ผู้สัจจริง ก็อยู่ที่การเลือกของเขา ซึ่งจะเป็นสิ่งพิสูจน์ ทว่าทุกครั้งในการเลือกนั้น ในชีวิตจริงมักจะต้องจ่ายราคาค่างวด มักต้องเจ็บปวด มักต้องสูญเสีย สมมุติว่า เราอยู่ในสถานการณ์หนึ่ง ซึ่งในสถานการณ์นั้น ถ้าเราพูดโกหกจะนำมาซึ่งการรักษาผลประโยชน์ของเราเอาไว้ได้ แต่ถ้าหากเราพูดความจริง เราจะกลายเป็นผู้สิ้นเนื้อประดาตัว เราจะต้องเลือกแล้วว่า จะพูดโกหก หรือพูดความจริง เรื่องเช่นนี้มีอยู่ตลอดเวลาในชีวิตของเรา ว่าเรานั้นจะเลือกความอัปยศหรือไม่เลือกความอัปยศ ในชีวิตของเรามีบททดสอบอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งในชีวิตส่วนตัวของมนุษย์ก็ตาม

โดย ซัยยิด สุไลมาน ฮุซัยนี