อะไรคือคุณลักษณะบุคลากรของพระเจ้า?

425

สมมุติฐานหรือข้อสังเกตใดที่จะบ่งชี้ว่าผู้นั้น คือบุคลากรของพระเจ้าอย่างแท้จริง?แน่นอนว่า บางยุคบางสมัยบุคลากรของพระองค์ คือ ‘อัมบิยาอ์’ บางยุคบางสมัยบุคลากรของพระองค์คือ ‘เอาศียาอ์’ บางยุคบางสมัยบุคลากรของพระองค์ คือ ‘เอาลียาอ์’ และที่ข้าพเจ้าไม่เอ่ยถึง ‘อิมาม’ นั้น เพราะอิมามคือ ‘วะศีย์’ บรรดา ‘อะอิมมะฮ์ (อ)’ ทั้งสิบสองคน คือ ‘วะศีย์’ ทายาททางการปกครองของศาสดามุฮัมมัด (ซล.)

เราจะมาพิจารณาคุณลักษณะของบุคลากรโดยตรงของอัลลอฮ์ (ซบ.) ว่าเป็นอย่างไร? แน่นอนว่า ย่อมมีลักษณะพิเศษจำนวนหนึ่ง คุณลักษณะที่สำคัญอันแรกที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าบุคคลนั้นคือ บุคลากรโดยตรงของพระองค์หรือไม่ เราจะพิสูจน์ที่ตัวของบรรดาอัมบียาอ์เสียก่อน

ดังนั้น บุคลากรชุดสุดท้าย คือ ‘เอาลียาอ์’ ซึ่งตรงนี้ก็หมายถึง ‘อาเล็มอุลามาอ์’ ผู้รู้ที่พัฒนาตนไปสู่จุดสมบูรณ์จนถึงขั้น ‘วลี’ ของอัลลอฮ์ (ซบ.) และบุคคลเหล่านี้ คือ บุคลากรโดยตรงของอัลลอฮ์ (ซบ.) เนื้อหาตรงนี้สำคัญอย่างมาก !! ฟังให้ดี…อุลามาอ์อื่นๆ คือบุคลากรที่รับใช้อัลลอฮ์ (ซบ.) แต่ก็ยังไม่ใช่บุคลากรโดยตรงจากอัลลอฮ์ (ซบ.) จะเรียกได้ก็ต่อเมื่อบุคคลเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่ง ‘วลี’ ของอัลลอฮ์ (ซบ.) เท่านั้น

และประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ‘เอาลียาอ์’ ของพระองค์ส่วนมากจะไม่เปิดเผยตน จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เปิดเผย… อัลฮัมดุลิลละฮ์ !! …ที่เปิดเผยนั่นล่ะ คือ บุคคลที่เราจะต้องยึดมั่น…คุณลักษณะที่หนึ่ง การทำงานการต่อสู้ของพวกเขานั้น เพื่ออัลลอฮ์ (ซบ.) เพียงหนึ่งเดียว บริสุทธิ์ใจไม่มีจุดประสงค์ใดแอบแฝง “อิคลาส” เพื่อพระองค์ผู้เดียว ถ้าเราดูในสำนวนอัลกุรอาน พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) สั่งให้ศาสดาทุกคนพูด (กุล) ว่าไม่ขอรางวัลใดๆ ในการทำภารกิจอันนี้ ในตัฟซีรอธิบายว่าการปฏิเสธ ‘อัจญรอ’ (รางวัล) ตรงนี้หมายถึง ปฏิเสธ ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ ที่เป็นรางวัล

บางครั้งมนุษย์ได้รับรางวัลแห่งความดี ‘ทางวัตถุ’ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง และบางครั้งก็คือสิ่งที่เป็น ‘นามธรรม’ เช่น การขอบคุณ การให้เกียรติ สรรเสริญ เยินยอ นี่ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งของรางวัลสำหรับมนุษย์ ดังนั้น บุคลากรของอัลลอฮ์ (ซบ.) จะประกาศอย่างชัดแจ้งว่า ไม่ต้องการรางวัลใดๆ กระทำเพื่ออัลลอฮ์ (ซบ.) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และมิได้คาดหวังใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเรามองโวหารด้านการอธิบายของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ก็จะยิ่งมีความหมายที่ลึกซึ้งมากไปอีก โดยที่โองการดังกล่าว อยู่ในซูเราะฮ์อินซาน หรือซูเราะฮ์ดะฮร์ โองการที่ 9 พระองค์ทรงมีพระดำรัสว่า

إِنَّمَا نُطْعِمُكُمْ لِوَجْهِ اللَّهِ لا نُرِيدُ مِنكُمْ جَزَاء وَلا شُكُورًا

“(พวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮ์ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด”

กล่าวคือ ไม่ต้องการการตอบแทน และไม่ต้องการแม้แต่การขอบคุณ จะ ‘ให้’ หรือ ‘ไม่ให้’ สิ่งเหล่านี้ไม่มีผลใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงความแน่วแน่ในการปฏิบัติภารกิจของเขา การทำให้เขาหมดกำลังใจ หรือการจะทำให้เขามีกำลังใจ ก็ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น นี่คือลักษณะอันหนึ่งของบุคลากรของอัลเลาะฮ์ (ซบ.) นี่คือบุคลิกอันหนึ่งของบุรุษแห่งพระเจ้าอย่างแท้จริง บุคคลเหล่านี้เท่านั้นที่มนุษย์ควรที่จะปฏิบัติตาม ดังที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ตรัสในซูเราะฮ์ยาซีนโองการที่ 20-21 ว่า

وَجَاءَ مِنْ أَقْصَى الْمَدِينَةِ رَجُلٌ يَسْعَى قَالَ يَا قَوْمِ اتَّبِعُوا الْمُرْسَلِينَ
اتَّبِعُوا مَن لاَّ يَسْأَلُكُمْ أَجْرًا وَهُم مُّهْتَدُونَ

“เมื่อมีชายคนหนึ่งจากสุดหัวเมืองวิ่งมาอย่างรีบเร่ง และกล่าวว่า โอ้ชาวเมือง จงปฏิบัติตามศาสนาทูตของอัลลอฮ์ จงตามผู้ซึ่งไม่ขอรางวัลใดๆจากพวกท่าน และในขณะเดียวกันพวกเขาก็อยู่ในทางนำ”

โดยได้บอกเหตุผลว่า จงปฏิบัติตามผู้ที่ไม่ขอรางวัลใดๆ จากมวลมนุษย์ในรูปลักษณะของรางวัล หมายความว่า การโต้ตอบของมนุษย์ไม่มีผลใดๆ ในความตั้งใจในภารกิจของเขา เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ข้าพเจ้าก็ใคร่จะยกตัวอย่างแห่งยุคสมัย ที่พิสูจน์ว่า “ริญาลุลเลาะฮ์” (วีระบรุษแห่งอัลลอฮ์) นั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยกำไรแห่งชีวิตที่ข้าพเจ้าได้รับเมื่อช่วงอยู่ในสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ก็คือได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ มากมาย

วันหนึ่งอาจารย์ของข้าพเจ้าได้เล่าเหตุการณ์หนึ่งให้ฟังว่า วันที่ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) อยู่ที่เมืองกุม ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งปฏิวัติสำเร็จใหม่ๆ คนจำนวนนับแสนร้องตะโกนอยู่หน้าบ้านท่าน กำมือกำหมัด ตะโกนสโลแกนว่า “ผู้ทำลายเจว็ดคือโคมัยนี” (เปรียบอิมามโคมัยนี (รฎ.) เหมือนท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) คนที่อยู่ใกล้ๆ เล่าให้ฟังว่า หนึ่งในอุลามาอ์ที่อยู่ใกล้อิมามโคมัยนี (รฎ.) ถามว่า ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง? อิมามโคมัยนี (รฎ.) ตอบภาษาฟารซีว่า “ฮิช” แปลว่า “ไม่มีอะไรเลย” (Notting) แล้วอิมามโคมัยนี (รฎ.) ก็หันหน้ามายังผู้ถาม และบอกว่า “ถ้าสโลแกนนี้เปลี่ยนว่า โคมัยนีจงพินาศ ฉันก็มีความรู้สึกอันเดียวกัน แม้เขาจะด่าสักพันครั้งฉันก็ยังรู้สึกเท่าเดิม” นี่คือความหมายของคำว่า “อิตตาบิอู” !!

และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ว่าเกิดเพียงครั้งเดียว หากแต่หลายสิบครั้ง เช่นอีกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อเครื่องบินแอร์ฟรานซ์ลงจอด นักข่าวถามว่า “รู้สึกอย่างไรเมื่อได้กลับมาบ้านเกิด?” ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ตอบว่า “ฮิช” เพราะการต่อสู้อันนี้ท่านไม่ได้ฝันว่าจะได้กลับมาที่บ้านเกิด จะอยู่ที่นี่หรือที่ไหนๆ ก็เหมือนๆ กัน นี่คือลักษณะอันหนึ่งของนักสู้แห่งพระเจ้าที่จะต้องมีคุณสมบัติเช่นนี้ จะอยู่บ้านหรือไม่อยู่บ้านไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ จนกระทั่งบางครั้งคนทางบ้านต้องบอกนักข่าวว่า อย่าพยายามสัมภาษณ์อะไรที่มันลึกๆ เดี๋ยวคนจะไม่เข้าใจ เพราะว่ามนุษย์บนโลกนี้อีกนานที่จะเข้าใจความลึกซึ้ง…ภายในของพวกเขายังจะต้องชำระล้างอีกหลายรอบ !!

คุณลักษณะที่สอง คือ وَهُم مُّهْتَدُونَ ‘วะฮุมมุฮตาดูน’ หมายความว่า เขาอยู่ในแนวทางแห่งฮิดายัต อยู่ในทางนำ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดตัวเองต้องอยู่ใน ‘ซีรอฏ็อลมุสตะกีม’ ก่อน ตัวเขาเองคือผู้อยู่ในอัลอิสลามอย่างสมบูรณ์ ตัวเขาเองคือผู้ปฏิบัติตามอัลอิสลามอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่เราเป็นชีอะฮ์แล้ว หมายถึงได้อยู่ในซีรอฏ็อลมุสตะกีมแล้ว นั่นคือคุณลักษณะที่สอง ของบุคลากรที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า

ซึ่งแน่นอน คุณลักษณะนี้ ผู้นำจะต้องเป็น ‘วลี’ ของอัลลอฮ์ (ซบ.) เท่านั้น เพื่อป้องกันความผิดพลาดของการชี้นำ ถ้าผู้นำไม่อยู่ในฮิดายัต ผู้คนอาจจะเกิดความคลางแคลงสงสัยขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น ในตอนที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะออกจากเมืองมะดีนะฮ์ มีบุคคลที่ทำตัวเป็น อาเล็ม (ผู้รู้) ได้ห้ามไม่ให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ออกไป โดยเอ่ยออกมาว่า “จงอย่าโยนตัวเองไปสู่ความพินาศเลย” นั่นเพราะเขามองว่าการออกไปของอิมามฮุเซน (อ.) มันเป็นเรื่องผิดบาป ออกไปจะต้องตายอยู่แล้ว และอัลลอฮ์ (ซบ.) ก็ทรงห้ามไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ทว่าบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ยังติดตามท่านอิมามฮุเซน (อ.)ออกไป นั่นก็เพราะเชื่อมั่นในผู้นำของพวกเขาว่า ท่านคือบุคคลที่อยู่ใน ‘ฮิดายัต’ อย่างแท้จริง !!

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อท่านอิมามอาลี (อ.) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นคอลีฟะฮ์ ได้ออกศึกรบ และกำลังจะกำชัยชนะเพียงแค่ปลายจมูก จนกระทั่งเกิดพวก ‘คอวาริจญ์’ ขึ้นมา ทำให้คนจำนวนหนึ่งตกเป็นกาเฟร เป็นมุรตัด ด้วยที่พวกเขาคิดว่าอิมามอะลี (อ) กำลังจะสู้กับอัลกุรอาน เพราะฝ่ายมุอาวิยะฮ์ได้ชูอัลกุรอานไว้ที่ปลายหอก แล้วบอกว่า เรามาตัดสินด้วยอัลกุรอาน ดังนั้น ผู้นำของศาสนา ต้องมีความสมบูรณ์อย่างแท้จริง นี่คืออีกคุณลักษณะหนึ่งของ ‘ผู้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้า’

คุณลักษณะที่สาม ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดกว่าคุณลักษณะอื่นๆ ก็คือ ผู้นำที่เป็นบุคลากรของอัลลอฮ์ (ซบ.) อย่างแท้จริง จะต้องมี ‘อัซม์’ (ความแน่วแน่) ทั้งด้านความรู้ ทั้งด้านการปฏิบัติ หากปราศจากสิ่งนี้แล้ว ขบวนการไม่สามารถไปสู่ความสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์แบบ ‘อัซม์’ ของมนุษย์ มีทั้งด้านความรู้ และทางด้านการปฏิบัติ ดังนั้นตามหัวข้อนี้ มนุษย์ถูกแบ่งออกหลายประเภท

(1) ประเภท ‘ไร้ความรู้’ ไม่มีความมั่นคงทางด้านความรู้ใดๆ และส่วนมากมนุษย์จะอยู่ในประเภทนี้ กล่าวคือ อยู่ไปวันๆ เป็นชีอะฮ์ก็เป็นเรื่อยๆ สมมุติว่า วันหนึ่งมีคนมาถามว่า นมาซทำไม? ก็จะตอบไม่ได้ เพราะไม่มีอัซม์แห่งวิชาการความรู้ นี่คือส่วนมากของมนุษย์ทั้งหมด

(2) มีความรู้แต่ไม่ปฏิบัติตามความรู้ ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามความรู้ของตัวเอง ซึ่งมีจำนวนมาก รวมทั้ง ‘อาเล็มอุลามาอ์’ ก็เช่นกันพวกเขา รู้ว่าต้องต่อสู้ รู้ว่าต้องปฏิวัติ แต่ตัวเองไม่กระทำ ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งของมนุษย์ที่ไร้ความมั่นคงทางความรู้ ‘อุลามาอ์’ รู้ว่าต้องต่อสู้แต่ไม่ได้ต่อสู้ ส่วนระดับพวกเรานั้นรู้ว่าการบริจาคเป็นสิ่งที่ดี การช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี รู้ว่าต้องทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ แต่ก็ไม่กระทำ การรู้สิ่งดีๆ ต่างๆ มากมาย แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ บุคคลเหล่านี้คือผู้ที่ไม่มั่นคง

(3) ดีกว่าสองประเภทแรกนิดหนึ่ง คือ มีความรู้ และสามารถปฏิบัติตามความรู้ของตนเองได้ แต่ปฏิบัติด้วยความยากลำบาก ก็เหมือนกับพวกเราบางคนที่ต้องฝืนปฏิบัตินมาซ หากถามพวกเราว่า ถ้าการไม่ตื่นนมาซซุบฮ์ถูกอนุมัติให้กระทำได้นั้นเป็นเรื่องดีหรือไม่? พวกเราส่วนมากก็จะตอบว่า ‘ดี’ ถ้าหากการไม่ถือศีลอดถูกอนุมัติให้กระทำได้ จะเป็นเรื่องดีหรือไม่? พวกเราส่วนมากก็จะตอบว่า ‘ดี’ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติหลายสิ่งหลายอย่างเพราะต้องฝืนทนปฏิบัติ บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถเป็นบุคลากรของพระผู้เป็นเจ้าได้ และถือว่านี่ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่แน่วแน่ และไม่มั่นคง

(4) มีความรู้และปฏิบัติตามความรู้อย่างสมบูรณ์ ไม่สามารถแบ่งแยกระหว่าง ‘อามั้ล’ (การกระทำ) กับ ‘อิลม์’ (ความรู้) พวกเขาจะมั่นคงทั้งการปฏิบัติและความรู้ จะปฏิบัติไปอย่างราบรื่น ไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่จะมาทำให้เกิดความยากลำบาก ในการที่จะปฏิบัติในสิ่งที่ตัวเองรู้ มั่นคงแน่วแน่ และมีความสุขในการปฏิบัติ ตัวอย่างกรณี ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซล.) ที่ได้เดินแจกสิ่งของจนกระทั่งที่บ้านไม่เหลืออะไรเลยสักอย่าง ศาสดามุฮัมมัด (ซล.) ก็ไม่ได้รู้สึกเสียดาย เพราะรู้ว่าการบริจาคนั้น เป็นสิ่งที่ดี

ครอบครัวของท่านอิมามอะลี (อ.) อดน้ำอดข้าว มาเป็นเวลาสามวัน และได้เอาของชิ้นหนึ่งไปขายหรือเอาออกไปจำนำ ได้เงินมา 5 ดิรฮัม ขณะเดินกลับบ้านจะไปซื้ออาหาร ระหว่างทางพบสหายคนหนึ่งกำลังนั่งหน้าเศร้า อิมามอาลี (อ.) ถามว่า เป็นอะไรหรือ? เมื่อเขาบอกว่า ที่บ้านไม่มีอะไรกิน อิมามอาลี (อ.) ก็ยกเงินให้เขาทั้งหมด และบอกว่า ให้เอาไปซื้อของกิน

เมื่อท่านอิมามอาลี (อ.) กลับมาถึงบ้าน เจอท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) อิมามฮะซัน (อ.) และอิมามฮุเซน (อ.) กำลังรออาหาร แต่ท่านอิมามอะลี (อ.) บอกกับท่านเหล่านั้นว่า ได้บริจาคเงินไปหมดแล้วเมื่อทั้งหมดได้ยินว่า “บริจาคไปหมดแล้ว” ก็กล่าวว่า “อัลฮัมดุลิ้ลละฮ์” สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อรู้ว่าต้องทำอะไร ก็จะทำด้วยความแน่วแน่และมั่นคง

เมื่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ตรัสกับศาสดามูซา (อ.) ให้ไปหา ‘ฟิรอูน’ (ฟาโรห์) เพราะแท้จริงเขาคือ ‘ฏอฆูต’ ท่านศาสดามูซา (อ.) ไปหาฟิรอูน เข้าสู่อาณาจักรอัยคุปต์อันยิ่งใหญ่ โดยไม่มีความหวาดกลัวใดๆ ทั้งสิ้น และนั่น คือเหตุผลอันหนึ่ง ที่บรรดา ‘อัมบิยาอ์ชั้นนำ’ กลุ่มหนึ่ง ถูกเรียกว่า ‘อุลิลอัซม์’ศาสดานุฮ์ (อ.) เป็น ‘อุลิลอัซม์’ ทำงานเผยแพร่แปดร้อยปี แต่ได้ผู้ติดตามมา จำนวน แปดคน จนกระทั่ง รู้แล้วว่าไม่มีประโยชน์แล้ว จึงขอดุอาอ์ยัง อัลลอฮ์ (ซบ.) ให้จัดการ

และในบรรดา อุลิลอัซม์ ก็มีระดับมีความแตกต่างกัน ถ้าเราพิจารณาศาสดาก่อนหน้าศาสดามุฮัมมัด (ซล.) ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) คือหนึ่งในศาสดาที่มี ‘อัซม์’ แน่วแน่มั่นคง
เมื่ออัลลอฮ์ (ซบ.) บอกว่า ต้องเชือดลูกน้อยอิสมาลอีล ท่านก็ได้ลับมีดจนคมกริบ พร้อมที่จะปฏิบัติและได้ผูกตาของอิสมาอีล (อ.) เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างมั่นคง อย่าให้มีความทุกข์ใจ คือพร้อมที่จะปฏิบัติตามอย่างแน่วแน่ เพราะถ้าหากมีความทุกข์ใจ หรือว่ามีอะไรสักนิดหนึ่ง ความเป็น ‘อุลุลอัซม์’ ก็จะมีความเข้มข้นลดน้อยลง กล่าวคือ ‘อุลิลอัซม์’ ได้เป็นแล้ว แต่อาจน้อยลง

เมื่อศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เชือดครั้งที่หนึ่ง แต่ไม่เข้า จึงลองเอามีดฟันไปที่ก้อนหิน หินนั้นแตกเป็นเสี่ยงๆ กลับมาเชือดครั้งที่สองก็ไม่เข้าอีก จึงรู้ว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) ประสงค์ไม่ให้มีการเชือดอันนั้น เมื่อถูกสั่งให้เอาท่านหญิงฮาญัร (อ.) ไปทิ้งที่มักกะฮ์ ท่านนบีอิบรอฮีม (อ.) ก็นำไปทิ้งทันที และไม่หันกลับมา คือจะต้องมีอัซม์ ในการตัดสินใจในภารกิจของพระเจ้า ต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่

เมื่อรู้ว่าจะต้องพิสูจน์ว่า เจว็ดต่างๆ ของชาวบาบิโลน ไม่สามารถทำอะไรได้ ก็เอาขวานสับหมดทุกตัว แล้วเอาขวานไปแขวนที่เจว็ดตัวใหญ่ ท่านรู้ว่าท่านจะต้องถูกเผาทั้งเป็น แต่ท่านได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะต้องถูกเผาอย่างแน่นอน ไม่สะทกไม่สะท้านใดๆ และนี่คือ อุลิลอัซม์ นี่คือ ที่มาของคำว่า ศาสดา อุลิลอัซม์ เมื่อประสงค์ที่จะเป็นชะฮีด หรือภาษาปัจจุบัน คือ ‘อิชติชฺฮาด’ (ซึ่งพวกอิสราเอลกลัวคำนี้เป็นอย่างมาก ในประเทศเลบานอนพวกอิสราเอลกลัวอิชติชฮาด) ผู้ที่แสวงหาการเป็นชะฮีดจะต้องแน่วแน่ ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เป็นผู้หนึ่งที่ต้องการเป็นชะฮีดอย่างแท้จริง ญิบรออีลลงมาบอกว่า ท่านขอให้พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ช่วยสิ ท่านตอบว่า ไม่ ! ฉันจะเป็นชะฮีดหรือไม่เป็นชะฮีด เป็นเรื่องของพระองค์ ให้พระองค์ทรงกำหนดเอาเอง

قَدْ كَانَتْ لَكُمْ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ فِي إِبْرَاهِيمَ وَالَّذِينَ مَعَهُ

“แน่แท้ในอิบรอฮีม และบุคคลที่ยืนหยัดกับอิบรอฮีม เป็นแบบฉบับที่ดีสำหรับพวกเจ้า” (ซูเราะฮ์มุมตะฮานะฮ์โองการที่ 4)

อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสยังศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ว่า “อุสวาตุลฮาซานะห์” (แบบอย่างที่ดีเลิศ) คือแบบอย่างของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ซึ่งโองการนี้ไม่ได้ตรัสกับศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เพียงอย่างเดียว แต่ทรงตรัสกับประชาชาติอิสลามทั้งหมด สำหรับพวกเจ้าทุกคน และบุคคลที่ยืนหยัดกับนบีอิบรอฮีม (อ.) ก็เป็น ‘อุสวาตุลฮาซานะห์’ ด้วย คือท่านนบีมุฮัมมัด (ซล.) และคนที่ตามท่าน สำหรับประชาชาติอิสลามก็คือ ‘อุสวาตุลฮาซานะห์’ ด้วย

ดังนั้น แบบฉบับของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้ถูกนำเสนอให้แก่ประชาชาติของศาสดามุฮัมมัด (ซล.) สำหรับทุกคนในโลกนี้ก็ต้องตามแบบฉบับนี้ด้วย ในมุมมองของนักตัฟซีร คำว่า مَعَهُ ในที่นี้ คือ ทุกคนที่ยืนหยัดในแนวทางของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ทั้งอัมบียาอ์ (บรรดาศาสดา) เอาลียาอ์ (บรรดาวลีของพระองค์) เอาศียาอ์ (บรรดาทายาทของศาสดา) หรือบรรดาอาเล็มอุลามาอ์ ก็เป็นแบบฉบับของประชาชาติอิสลามที่จะต้องยึดแบบฉบับของพวกเขามาเป็นแบบฉบับของเรา เอามาเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิต กล่าวคือ แบบฉบับของบุคคลที่ยืนหยัดอยู่กับศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ก็เป็นแบบฉบับของประชาชาติของศาสดามุฮัมมัด (ซล.) เช่นกัน

จากหนังสือ “ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ” โดยฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี