ฮิญาบในประวัติศาสตร์

257

บทความนี้จะพิจารณาถึงประวัติศาสตร์การคลุมศีรษะหรือฮิญาบโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมองย้อนไปถึงยุคสมัยโบราณที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญที่จะเน้นในการพิจารณาคือ ประวัติศาสตร์ของอารยธรรมที่ผ่านมาเคยมีฮิญาบหรือไม่? และแนวคิดเรื่องการคลุมศีรษะหรือฮิญาบเกิดมาจากความมุ่งหวังของอิสลามล้วนๆ หรือไม่?

ฮิญาบในอารยธรรมก่อนหน้าอิสลาม

จากอารยธรรมโบราณต่างๆ พบว่า การคลุมศีรษะหรือฮิญาบ เคยเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีของพวกเขา ประเพณีนี้สามารถพบได้ทั้งในฮินดู, ยิว และอิหร่านโบราณ

วิลล์ ดิวแรนท์ (Will Durant) (1885-1981) นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกันเขียนไว้ว่า

“ถ้าสตรีชาวยิวคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เธอออกไปบนท้องถนนหรืออยู่ต่อหน้าชายอื่นโดยไม่คลุมศีรษะ หรือแม้แต่เสียงของเธอได้ยินไปถึงชายอื่นหรือเพื่อนบ้าน ในกรณีนี้ สามีของเธอมีสิทธิ์ที่จะหย่าเธอได้โดยไม่ต้องมอบสินเดิมแก่เธอ”

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่ากฎการคลุมศีรษะในศาสนายิวค่อนข้างรุนแรงเมื่อเปรีบเทียบกับกฎของอิสลาม

วิลล์ ดิวแรนท์ ยังได้อ้างต่อไปถึงอารยธรรมเปอร์เซียโบราณ ในหนังสือประวัติศาสตร์อารยธรรม (History of Civilization) เล่ม 1 หน้า 552 ว่า

“หลังจากดารูช สถานะของสตรี โดยเฉพาะสตรีจากสังคมชั้นสูง เสรีภาพของสตรีเริ่มลดลง สตรีในสังคมชั้นล่างยังสามารถรักษาเสรีภาพของพวกเธอไว้ได้ เนื่องจากเหตุผลหลักคือพวกเธอต้องออกจากบ้านเพื่อเข้าสังคมไปหาเงินเพื่อการอยู่รอด แต่สตรีในระดับเศรษฐกิจหรือฐานะทางการเงินอื่นๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านในระหว่างมีรอบเดือน”

ประเพณีประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นความยากลำบากมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงจากสังคมชั้นสูงไม่กล้าออกไปข้างนอกยกเว้นจะไปในคานหาม (เครื่องแบกหามพิเศษทำจากไม้ มีผู้ชายสี่คนแบกถือคนละด้านของคาน) โดยถูกปิดคลุมทั้งสี่ด้านด้วยผ้าม่าน ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับผู้ชายคนใดอย่างเปิดเผย สตรีที่แต่งงานแล้วไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับชายใด แม้แต่พ่อหรือพี่ชายน้องชายของตัวเอง

แนวคิดเรื่องการคลุมศีรษะหรือฮิญาบเกิดจากความมุ่งหวังของอิสลามล้วนๆ หรือไม่?

วิลล์ ดิวแรนท์ยังระบุต่อไปว่า : ฮิญาบในระหว่างยุคเปอร์เซียโบราณได้นำเอาแนวคิดเรื่องฮิญาบไปสู่โลกอาหรับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศมุสลิม

เรารู้ว่าฮิญาบในอิสลามไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับประเพณีและกฎของการคลุมศีรษะในสมัยเปอร์เซียโบราณหรือในศาสนายิว ในอิสลาม ผู้หญิงเพียงแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัตินมาซและถือศีลอดภาคบังคับ และไม่ให้หลับนอนกับสามีในระหว่างที่มีรอบเดือนเท่านั้น นอกจากนี้เธอมีอิสระเต็มที่ในการออกไปเข้าสังคมหรือเกี่ยวข้องกับงานสาธารณะ แนวคิดของการ “ขังตัวเองอยู่ที่บ้าน” ในขณะมีรอบเดือนนั้นไม่มีอยู่ในอิสลามเลย

ถ้าวิลล์ ดิวแรนท์ กำลังพยายามทำให้เราเชื่อว่าแนวคิดเรื่องฮิญาบทั้งหมดถูกถ่ายทอดมายังโลกมุสลิมผ่านจากอารยธรรมอื่นๆ อย่างเช่นอิหร่านโบราณหรือศาสนายิว ความเข้าใจเช่นนั้นก็เป็นความเข้าใจที่ผิดอีกครั้ง เพราะโองการต่างๆ จากอัล-กุรอานที่กล่าวถึงเรื่องฮิญาบนั้น ถูกประทานมาก่อนหน้าที่ชาวอิหร่านจะเป็นมุสลิม

สังคมอาหรับตามคำกล่าวของวิลล์ ดิวแรนท์ :

“สตรีอาหรับในระหว่างช่วงศตวรรษที่หนึ่งไม่เคยสวมฮิญาบ บุรุษและสตรีเคยพบปะและพูดคุยกัน พวกเขาเหล่านั้นเคยเดินเคียงข้างกันบนท้องถนน ในมัสญิดพวกเขาเคยนมาซร่วมกัน แม้ว่าศาสดา(ศ.)ได้ทำให้การสวมเสื้อผ้าหลวมๆ เป็นที่ต้องห้าม แต่ชาวอาหรับจะถือกฎนี้เหมือนไม่เคยเกิดขึ้น สตรีอาหรับเคยสวมใส่เสื้อผ้าหลวมหลากสีสันโดยส่วนมากปกปิดเพียงครึ่ง พวกเขาเคยใช้เข็มขัดเชือกคาดรอบเอว ผมเคยถูกเปิดเผยและไม่ได้ปิดคลุม”

การอธิบายของวิลล์ ดูแรนท์ เกี่ยวกับสตรีอาหรับก่อนหน้าอิสลามเป็นความจริงโดยไม่มีข้อสงสัย แต่ความเห็นของเขาเกี่ยวกับปลายศตวรรษที่หนึ่งและเริ่มต้นศตวรรษที่สองภายหลังอิสลามเป็นเรื่องที่น่ากังขา เขาพูดราวกับว่าในระหว่างสมัยของท่านศาสดา(ศ.)ไม่มีแนวคิดเรื่องฮิญาบในหมู่ชาวอาหรับเลยแม้แต่น้อย และสตรีชาวอาหรับเคยเดินไปไหนมาไหนโดยไม่มีฮิญาบหรือไม่คลุมศีรษะได้อย่างอิสระ ประวัติศาสตร์พิสูจน์ให้เราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง อิสลามได้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมาสู่การแต่งกายของผู้หญิง สตรีอาหรับส่วนใหญ่เคยแต่งกายตามแบบอย่างการแต่งกายของอิสลามดังที่ถูกอธิบายไว้ในโองการอัล-กุรอาน ข้อเท็จจริงนี้สามารถพิสูจน์ได้โดยรายงานจากภรรยาของท่านศาสดา(ศ.)เช่นท่านหญิงอาอีชะฮ์

ในหนังสือเล่มหนึ่งของจาวาฮิร์ ลาล เนห์รู รัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ก็มีความเชื่อเช่นเดียวกันว่ากำเนิดของฮิญาบในชาติอาหรับมาจากอารยธรรมอื่นที่ไม่ใช่มุสลิม เช่นอิหร่านและโรม ในหนังสือ “A look into the history of world” ของเขา เล่ม 1 หน้า 328 หลังจากการยกย่องอารยธรรมอิสลามแล้ว เขากล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากนั้นในอิสลามโดยอารยธรรมอื่นๆ

“การเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างหนึ่งที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในสังคมอาหรับคือการเปลี่ยนแปลงในสตรี ในแถบอาหรับสำหรับสตรีแล้วไม่มีประเพณีการคลุมศีรษะหรือฮิญาบ สตรีอาหรับจะไม่ถูกแยกกับผู้ชายในสังคม สตรีอาหรับค่อนข้างจะปรากฏตัวในที่สาธารณะ เข้าร่วมการปราศรัย ฯลฯ ชาติอาหรับภายหลังอิสลามได้ลอกเลียนประเพณีต่างๆ จากจักรวรรดิเช่นอิหร่านและโรมโบราณ อาหรับพิชิตอาณาจักรโรมันและอิหร่าน แต่ได้รับเอาประเพณีและวัฒนธรรมของพวกเขามา ดังนั้น ประเพณีการคลุมฮิญาบจึงได้มาจากอารยธรรมอื่นๆ”

สิ่งที่จาวาฮิรฺกล่าวไม่เข้ากันกับประวัติศาสตร์ของอิสลาม เราสามารถกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมอาหรับและมุสลิมที่ไม่ใช่อาหรับได้ผนวกเอาประเพณีที่แตกต่างกันบ้างในการคลุมฮิญาบหรือทำให้มันมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบยุคสมัยของท่านศาสดา(ศ.) แต่การกล่าวว่าฮิญาบเป็นแนวคิดที่นำเข้ามาสู่โลกอิสลามจากอารยธรรมอื่นๆ ทั้งสิ้นนั้น เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

สรุป

สิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนในที่สุดก็คือ ฮิญาบมีปรากฏอยู่ในอารยธรรมอื่นๆ ในฐานะประเพณีการปฏิบัติ อิสลามไม่ได้นำแนวคิดเรื่องฮิญาบมาเป็นการปฏิบัติใหม่เสียทั้งหมด อิสลามได้ทำให้แนวคิดของการคลุมฮิญาบมีความง่ายขึ้นและไม่นำมาใช้เหมือนกฎที่แข็งกร้าวที่เคยใช้ปฏิบัติในวัฒนธรรมและธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ประเพณีที่ผู้หญิงไม่เข้าร่วมสังคมกับผู้ชาย ผู้หญิงถูกกักขังอยู่ในบ้านขณะมีรอบเดือน เสียงของผู้หญิงไม่สามารถให้ผู้ชายอื่นได้ยินได้ ผู้หญิงไม่ได้อนุญาตให้พบแม้แต่กับพี่ชายน้องชายและพ่อของตัวเอง และอื่นๆ อีกมากมาย

แน่นอนว่า เราสามารถพิสูจน์เรื่องนี้ได้จากประวัติศาสตร์ บุตรสาวของท่านศาสดา(ศ.) อย่างเช่นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.) และหลานสาวของท่านอย่างเช่นท่านหญิงซัยนับ(อ.) ได้ยืนขึ้นต่อหน้าสาธารณชนและกล่าวคำปราศรัยต่อผู้ปกครองในยุคนั้น

คำถามที่เกิดขึ้น ณ ทีนี้คือเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาอันล้ำลึกของฮิญาบ ปรัชญาและเหตุผลของการคลุมฮิญาบในอิสลามจะเหมือนกันหรือไม่กับปรัชญาในอารยธรรมโบราณอื่นๆ เราจะได้พิจารณาเรื่องนี้กันในบทความต่อๆ ไป

Source : tebyan.net