หากปราศจากจริยธรรมเสียแล้ว โครงสร้างของสังคมที่ดีงามจะล่มสลาย
เราทราบกันดีว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และไม่สงสัยเลยว่า “สังคม” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไข และ หรือถ่วงรั้งทำให้เกิดความเสื่อม ของมนุษย์
นักสังคมศาสตร์เชื่อว่ามนุษย์ที่ไม่มีสังคมสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง (วิทยาการและความรู้, ความสมบูรณ์ทางใจ, ความรัก และแม้แต่การพูด และเรื่องอื่นๆ คล้ายกันนี้)
สถานการณ์ของเด็กๆ ที่ถูกแยกตัวออกจากสังคมมนุษย์ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง และได้รับการฝึกฝนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีมนุษย์ เช่น ในป่า อยู่ร่วมกับสัตว์ป่า พิสูจน์เรื่องนี้ได้ ในประวัติศาสตร์ เราได้พบเห็นเด็กๆ ประเภทนั้นบ่อยครั้ง พวกเขาไม่สามารถพูดและเข้าใจแนวคิดอันสูงส่งของชีวิตมนุษย์ได้ อีกทั้งพวกเขาไม่มีสายใยของความรักแบบมนุษย์อยู่ในตัว และพฤติกรรมและการกระทำของพวกเขาเหมือนกันกับบรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่า
การเฝ้าสังเกตสถานการณ์ของนักเดินทางและชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายที่สังคมของพวกเขาจำกัดอยู่ในวงแคบมากๆ และการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ มีน้อยนั้น เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีอย่างหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า ถ้ามนุษย์สูญสิ้นสังคมชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไร
เรื่องนี้และหลักฐานอื่นๆ อีกมากมายเป็นข้อพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่า ความเชื่อของนักสังคมศาสตร์ที่ว่า “สังคมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับปัจเจกบุคคล” แน่นอนว่าบุคคลนั้น ในฐานะที่เป็น “สิ่งมีชีวิต” ก็อาจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคม แต่ในฐานะ “มนุษย์” เขาไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับสังคม
และด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน เมื่อมนุษย์พัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมมากยิ่งขึ้น ความเจริญของเขาก็จะพัฒนามากยิ่งขึ้น ถึงแม้ในมุมมองที่พิเศษ ความสะดวกง่ายดายของเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารในโลกปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดความใกล้ชิดและการติดต่อกันของปัจเจกบุคคลมากยิ่งขึ้นนี้ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการก่อตัวขึ้นของอารยธรรมปัจจุบัน และยังถือว่าเป็นเกณฑ์ในการประเมินระดับของความเจริญในประเทศต่างๆ ของโลกอีกด้วย
สิทธิประโยชน์จากชีวิตทางสังคมของมนุษย์
ชีวิตทางสังคมย่อมไม่ได้จำกัดอยู่แค่มนุษย์เท่านั้น เพราะเรารู้ว่ากลุ่มหนึ่งของแมลงเป็น “แมลงสังคม” เช่นผึ้งและปลวก ซึ่งพอใจกับชีวิตทางสังคมที่น่านับถือสังคมหนึ่ง และยังมีกลุ่มของ “นกสังคม” ในพวกนกด้วย เช่น นกนางแอ่นและนกกระสา และมีระดับของ “สัตว์สังคม” ในกลุ่มของสัตว์ป่าเช่นลิงอีกด้วย
ชีวิตทางสังคมของสัตว์เหล่านั้นบางทีอาจจะมีความพัฒนามากกว่ามนุษย์เสียอีกในบางแง่มุม ยกตัวอย่างเช่น ในรังผึ้ง ไม่มีผึ้งที่ขี้เกียจและหิวเลยแม้แต่ตัวเดียว ขณะที่มันไม่เป็นเช่นนั้นในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนามากที่สุดในโลก
วิธีการแบ่งปันงานและสิ่งที่หามาได้ในหมู่พวกมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจและแปลกมาก และมันหาอะไรเปรียบไม่ได้ในสภาพแวดล้อมของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ชีวิตทางสังคมของพวกมันมีความแตกต่างพื้นฐานอยู่สองอย่างที่แยกพวกมันออกจากชีวิตทางสังคมของมนุษย์โดยสิ้นเชิง
1 – ชีวิตทางสังคมของสัตว์ ไม่ว่ามันจะสูงส่งหรือพัฒนามากเพียงใดก็ตาม มันถูกจำกัดอยู่ในส่วนพิเศษต่างๆ และลักษณะที่ปรากฏออกมาของชีวิตทางสังคมของพวกมันถูกสรุปอยู่ในจุดประสงค์ที่จำกัดบางอย่างเท่านั้น ประกอบด้วยการสร้างรัง, การหาอาหาร, การฝึกฝนลูก และอะไรทำนองนี้ ในขณะที่ลักษณะของชีวิตทางสังคมในมนาย์มีอะไรที่มากกว่านั้นมาก และแทบจะไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่ที่จุดประสงค์อย่างหนึ่งหรือมากกว่านั้น
2 – ชีวิตทางสังคมของสัตว์มีรูปแบบที่เสร็จสรรพและไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ไขใดๆ หรือจะกล่าวได้ว่าพวกมันทำสิ่งเดิมซ้ำๆ อยู่เหมือนเดิม เช่น รังผึ้งในปัจจุบันมีสภาพเหมือนกันทุกอย่างกับรังผึ้งที่กลายเป็นหินจากเมื่อหลายล้านปีก่อนที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ และสิ่งนี้เป็นการรับรองว่าการกระทำและรูปแบบชีวิตโดยทั่วไปของพวกมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยตลอดช่วงเวลาหลายปีนั้น
ในขณะที่ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งศตวรรษหรือน้อยกว่านั้น รูปแบบชีวิตทางสังคมของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกขั้นตอนจนถึงขนาดว่าไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้เลยกับในอดีตที่ผ่านมา ความแตกต่างทิ่ยิ่งใหญ่สองประการนี้ทำให้ชีวิตทางสังคมของมนุษย์โดดเด่นไปจากชีวิตทางสังคมของสัตว์อื่นๆ
สรุปได้ว่า ความสมบูรณ์ใดก็ตามที่มนุษย์ได้บรรลุถึง ไม่ว่าทางด้านจิตใจ ทั้งในแง่ของการปฏิบัติและคุณธรรม หรือทางด้านวัตถุและภาคอุตสาหกรรม หรือในภาคส่วนอื่นๆ มนุษย์ล้วนเป็นหนี้ต่อสังคม และหากปราศจากสังคมแล้วไซร้ อารยธรรมและมนุษยชาติจะไม่มีความหมายอย่างใดเลย
Source: alhassanain.com