พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) น่ากลัว อย่างนั้นหรือ? ตอน 1

160

แต่ไหนแต่ไรมา เรามักจะได้ยินโต๊ะครูพูดย้ำนักย้ำหนา โดยเฉพาะในคุตบะฮ์นมาซวันศุกร์ว่า “จงเกรงกลัวพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ให้มาก” วันนั้นเราเป็นเด็กยังด้อยความรู้นัก จึงคิดไปไกลว่า พระองค์น่ากลัวอย่างนั้นเลยหรือ? แต่เมื่อเราโตขึ้นมา และได้เรียนรู้วิชาบ้าง ก็เข้าใจแล้วว่า ที่โต๊ะครูสั่งสอนให้เราเกรงกลัวพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ในวันนั้น ไม่ใช่ดั่งที่เราคิด

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีความเข้าใจที่เหมือนกัน อาธิเช่นพี่น้องต่างศาสนิก บางทีอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงข้างต้น จึงใคร่ขอทำความเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นไป

“จงมีความเกรงกลัวต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ)” คือหนึ่งจากบรรดาคุณลักษณะพิเศษของผู้ศรัทธาที่แท้จริง ซึ่งถ้าหากมนุษย์ได้ค้นหาความหมายที่แท้จริงของประโยคข้างต้น มนุษย์ก็จะได้พบกับประเด็นที่สำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตของเขาในโลกใบนี้อย่างแน่นอน

ความกลัวคืออะไร?
ความกลัว คือหนึ่งจากคุณลักษณะภายในที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ไม่มีความคลางแคลงใดๆ ต่อคุณลักษณะพิเศษนี้สำหรับการมีอยู่ของมนุษย์

ความกลัว ไม่ได้เป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิต หรือได้มาจากการเรียนรู้ตามสถาบันต่างๆ แต่ทว่าความกลัวมีมาอยู่กับมนุษย์ตั้งแต่มนุษย์ลืมตาขึ้นดูโลกใบนี้แล้ว ดั่งจะเห็นได้จากเด็กทารกน้อยวัยเพียงไม่กี่วัน ก็มีความกลัวต่อเสียงดัง หรือเสียงเคลื่อนไหวบางสิ่งบางอย่าง และแสดงออกซึ่งความกลัวด้วยการร้องให้ หรือยกมือยกเท้า เปิดหูเปิดตา ต่างๆ นานา

ความกลัว จึงมีอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคน ซึ่งมันจะถูกปลุกขึ้นทำงานทันทีจากภายในเมื่อมนุษย์มีความรู้สึกต่ออันตรายที่ย่างกรายเข้ามา

ความกลัว คือเครื่องมือประเภทหนึ่งในการปกป้องมนุษย์ เมื่อต้องเผชิญกับภัยอันตราย และความกลัวจะนำพามนุษย์ไปสู่การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะสมที่สุดเพื่อปกป้องภัยอันตรายเหล่านั้น

ในสถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใด เมื่อมนุษย์มีความรู้สึกถึงภัยอันตรายมนุษย์จะรู้สึกมีความกลัวในทันที แต่ขึ้นอยู่กับความกลัวของแต่ละคน บางคนกลัวแม้เสียงร้องของแมว แต่บางคนไม่กลัวแม้กระทั่งเสือโคร่งทีดุร้าย แต่ในยุคปัจจุบันก็มีบ้างที่เสแสร้งกลัวเพื่อสร้างกระแส ซึ่งไมเกี่ยวข้องกับเนื้อหานี้แต่ประการใด อาธิเช่นดาราบางคนในบ้านเรากลัวผลสับปะรด

ความกลัวที่อยู่ในตัวของมนุษย์แต่ละคนมีแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์คนใดสามารถบังคับความกลัวของตนได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม “ความกลัว” ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน คือความเมตตาหนึ่งจากพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ทรงมอบให้กับมนุษย์

ในคำสอนหนึ่งของอิสลามมีว่า “การมีอยู่ของคุณลักษณะแห่งความกลัวในสตรีเพศคือสิ่งที่ดีงาม” ทว่าการมีอยู่ของคุณลักษณะนี้ในบุรุษเพศ โดยเฉพาะมีมากเกินความจำเป็น ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี อย่างไรก็ดี คุณลักษณะ “ความกลัว” ที่มีอยู่ในบุรุษเพศ และสตรีเพศ จะมีความสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการควบคุมความกลัวในสถานการณ์จำเป็นได้เท่านั้น ด้วยการพัฒนาจิตวิญญาณหนทางเดียว

ซึ่งถ้าหาก “ความกลัว” นั้นได้รับการควบคุมอย่างถูกต้อง ก็จะนำมาซึ่ง “ความกล้าหาญ” ซึ่งอิสลามมีคำสอนให้มนุษย์ทุกคนพัฒนาจิตวิญญาณ เพื่อควบคุม “ความกลัว” ให้ได้เพื่อให้ได้มาซึ่งความกล้าหาญในที่สุด หากมิเป็นเช่นนั้น มนุษย์เมื่อมีความกลัวมากก็จะกลายเป็นคนขี้ขลาดตาขาว และหากมีน้อยก็จะกลายเป็นคนดุดัน

ความกลัว ในทัศนะของอิสลามคือสื่อประเภทหนึ่งในการแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) แต่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นความกลัวอะไร และกลัวใคร และต้องเป็นความกลัวที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น กลัวการลงโทษทัณฑ์ของพระองค์จากการขัดขืนคำสั่งของพระองค์ ผลลัพธ์ที่จะได้รับก็คือ เขาผู้นั้นจะไม่มีวันขัดขืนต่อคำสั่งของพระองค์ตลอดไปจนเขาจากโลกนี้ไป

และที่กล่าวว่า ต้องเป็นความกลัว ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง ก็เนื่องจากว่า ผู้ศรัทธาจอมปลอมนั้นมีมากมายนัก พวกเขากลัวการลงโทษทัณฑ์เช่นกัน แต่ในขณะที่พวกเขากลัว พวกเขากลับไม่หยุดยั้งการขัดขืนคำสั่งของพระองค์ ยังคงกระทำความผิดอยู่ตลอดเวลา ความกลัวของบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีคุณค่า และไม่ได้เป็นสื่อไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แต่ประการใด

มาถึงตรงนี้ อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นได้ว่า ในเมื่อความเมตตาของพระองค์อัลลอฮ์นั้นมากมายนัก แล้วด้วยเหตุใดมนุษย์จึงยังคงต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องเกรงกลัว ต่อการลงโทษทัณฑ์พระองค์อยู่อีก?

คำตอบสั้นๆ ก็คือ การเข้าสู่สรวงสวรรค์ของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้เข้าได้ด้วยแค่การเกรงกลัวการลงโทษทัณฑ์ของพระองค์เพียงอย่างเดียว แต่ทว่าพร้อมๆ กับการมีความกลัวต่อการลงโทษทัณฑ์นั้น การมีความหวังต่อความเมตตาอันไพศาลของพระองค์ก็คงจะขาดไม่ได้ ทั้งสองต้องเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน และระหว่างสองสิ่งนี้เท่านั้นที่มนุษย์จะได้พบกับความผาสุกทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

หมายถึง เมื่อมนุษย์มีความหวังต่อความเมตตาอันไพศาลของพระองค์มากเท่าไร เขาก็จะมีความกลัวต่อการลงโทษทัณฑ์ของพระองค์มากเท่านั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น มนุษย์ก็ไม่มีวันปฏิบัติในสิ่งที่ขัดกับพระบัญชาของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) อย่างแน่นอน เนื่องจากว่า มนุษย์เมื่อมีความกลัวต่อการลงโทษทัณฑ์ของพระองค์จากการกระทำความผิด ผลลัพธ์คือ มนุษย์จะแสวงหาการกระทำความดีที่ไม่ขัดพระบัญชาของพระองค์เท่านั้น ด้วยความหวังต่อความเมตตาอันไพศาลของพระองค์

และเมื่อกุญแจทองสองดอกนี้ได้ตกอยู่ในกำมือของมนุษย์คนใด เขาก็จะออกห่างจาการกระทำบาปทั้งปวง และจะไม่ละทิ้งในสิ่งที่พระองค์ทรงมีบัญชามา มนุษย์ผู้นั้นก็จะพบกับความผาสุก

พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) น่ากลัว อย่างนั้นหรือ ตอน 2

เรียบเรียงโดย อะบูเกาษัร