ฆอดีร ความหมายตามตัวอักษรคือทะเลสาบหรือสระเล็กๆ ฆอดีร เป็นชื่อของสถานที่ที่อยู่ระหว่างทางจากมักกะฮ์ไปมะดีนะฮ์
ที่นั่นมีสระเล็กๆ อยู่แห่งหนึ่ง ถึงแม้ทางภูมิศาสตร์มันจะอยู่บนทางที่จะไปมะดีนะฮ์ แต่ความจริงแล้วมันเป็นจุดที่เป็นทางแยกสำหรับประชาชนที่ออกจากมักกะฮ์ที่จะกลับไปยังเมืองอื่นๆ ทั้งหมดด้วยเช่นกัน
เมื่อวันที่ 18 ซุลฮิจญะฮ์ ปีฮ.ศ.10 (10 มีนาคม ค.ศ.632) ท่านศาสดา(ศ.) ได้หยุดพัก ณ ที่แห่งนี้หลังจากการทำฮัจญ์ครั้งสุดท้ายของท่าน เพื่อทำการประกาศสาส์นสำคัญทั้งหมด มันเป็นเวลาเกือบเที่ยงวันและอากาศร้อนมาก มันเป็นสถานที่แห้งแล้ง ไม่มีชายคาที่พักที่นั่นเลยในขณะนั้น มีแต่ร่มไม้เล็กๆ จากต้นอากาเซียเพียงไม่กี่ต้นเท่านั้น
เหตุการณ์ก่อนหน้า
ท่านศาสดา(ศ.) ได้ให้สาวกของท่านเรียกให้ชาวมุสลิมโดยทั่วไปเข้าร่วมการแสวงบุญยังอัล-กะอ์บะฮ์ ท่านศาสดา(ศ.) ระบุว่าตัวท่านจะไปที่นั่นเพื่อร่วมการแสวงบุญด้วย และสอนชาวมุสลิมให้รู้ถึงพิธีกรรมของการแสวงบุญ และท่านจะประกาศสาส์นสำคัญต่อทุกคนโดยตรง
ระหว่างทางไปมักกะฮ์ของท่าน มีชาวมุสลิมมากกว่า 70,000 คน ร่วมเดินทางไปพร้อมกับท่าน ในวันที่ 4 ซุลฮิจญะฮ์ มีชาวมุสลิมมากกว่า 100,000 คน ไปทำฮัจญ์กับท่านศาสดา(ศ.)
หลังการแสวงบุญครั้งสุดท้าย
หลังจากเสร็จสิ้นการแสวงบุญครั้งสุดท้าย ท่านศาสดา(ศ.) พร้อมด้วยบรรดามุสลิมได้ออกเดินทางจากมักกะฮ์ ระหว่างทางกลับนั้น บรรดามุสลิมได้มาถึงสถานที่ที่เรียกว่าฆอดีร คุม โองการต่อไปนี้ก็ได้ถูกประทานลงมาแก่ท่านศาสดา(ศ.)
“โอ้ศาสนทูตเอ๋ย ! จงประกาศสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้าจากพระเจ้าของเจ้า และถ้าเจ้ามิได้ปฏิบัติ เจ้าก็มิได้ประกาศสารของพระองค์(เลย) และอัลลอฮ์นั้นจะทรงคุ้มกันเจ้าให้พ้นจากมนุษย์…” (อัล-กุรอาน 5/67)
หลังจากได้รับโองการ
เมื่อได้รับโองการดังกล่าวแล้ว ท่านศาสดา(ศ.) ได้หยุดที่สถานที่ที่เรียกว่าฆอดีร คุม ท่านได้สั่งให้สาวกของท่านเรียกบรรดาผู้ที่ได้เดินทางไปก่อนแล้วให้กลับมา และรอคอยบรรดาผู้ที่ยังอยู่รั้งหลังเพื่อมารวมตัวกัน ท่านได้สั่งให้ท่านซัลมานจัดเตรียมแท่นเทศนาขึ้นด้วยการใช้ก้อนหินและอานบนหลังอูฐ ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยง บรรดามุสลิมเริ่มนั่งลงใกล้กับแท่นเทศนาชั่วคราวนั้น ท่านศาสดา(ศ.) ใช้เวลาอยู่ที่นั่นประมาณ 5 ชั่วโมง ท่านได้กล่าวโองการอัล-กุรอานเกือบ 100 โองการ ส่วนใหญ่เป็นโองการที่กล่าวยกย่องท่านอะลี(อ.) ท่านได้ตักเตือนและว่ากล่าวบรรดามุสลิมเหล่านั้นเกี่ยวกับการกระทำและอนาคตของพวกเขาเจ็ดสิบสามครั้ง
ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำปราศรัยอันยาวเหยียดของท่านศาสดา(ศ.) ซึ่งนักวิชาการฝ่ายซุนนีก็ได้รายงานไว้ด้วยเช่นกัน
“ดูเหมือนใกล้จะถึงเวลาที่ฉันจะถูกเรียกกลับ (โดยอัลลอฮ์) และฉันควรจะตอบรับการเรียกนี้ ฉันจะละทิ้งสิ่งสำคัญสองประการไว้ให้พวกท่าน และถ้าพวกท่านยึดเหนี่ยมต่อทั้งสองประการนี้ พวกท่านจะไม่หลงผิดภายหลังจากฉัน นั่นคือคัมภีร์ของอัลลอฮ์ และลูกหลานของฉัน คืออะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน ทั้งสองอย่างนี้จะไม่แยกจากกันและกันจนกระทั่งทั้งสองได้คืนมาหาฉันที่สระน้ำ(ในสวรรค์)”
หลังจากนั้น ท่านศาสดา(ศ.) ได้พยายามที่จะเตือนบรรดามุสลิมถึงอำนาจของตัวท่านเองที่มีเหนือพวกเขาโดยกล่าวว่า
“ฉันมิได้มีสิทธิเหนือบรรดาผู้ศรัทธามากกว่าที่พวกเขามีเหนือตัวพวกเขาเองกระนั้นหรือ?”
บรรดามุสลิมตอบโดยพร้อมเพียงกันว่า “ใช่แล้ว โอ้ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์”
ท่านศาสดา(ศ.) ได้ชูมือของท่านอะลี(อ.) ขึ้นและกล่าวว่า
“ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้นำของเขา(เมาลา) อะลีก็คือผู้นำของเขา(เมาลา)”
หลังจากนั้นท่านศาสดา(ศ.) กล่าวว่า
“โอ้อัลลอฮ์ ขอทรงรักบรรดาผู้ที่รักเขา และทรงเป็นศัตรูกับบรรดาผู้ที่เป็นศัตรูต่อเขา”
ศาสนาสมบูรณ์แล้ว
ทันทีที่ท่านศาสดา(ศ.) เสร็จสิ้นการปราศรัยของท่าน โองการหนึ่งของอัล-กุรอานก็ได้ถูกประทานลงมาแก่ท่าน
“…วันนี้ข้าได้ทำให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และข้าได้ทำให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว…” (อัล-กุรอาน 5/3)
โองการนี้ระบุอย่างชัดเจนว่า ด้วยการประกาศถึงผู้เป็นตัวแทนที่เปล่งออกมาโดยท่านศาสดา(ศ.) นี้เท่านั้น ที่จะทำให้ถือว่าศาสดาอิสลามเป็นศาสนาที่ครบถ้วนและสมบูรณ์แล้ว หากปราศจากการประกาศนี้ หรือเพราะการไม่เอาใจใส่ต่อการประกาศนี้แล้ว ศาสนาอิสลามก็จะไม่ครบถ้วนสมบุรณ์ได้เลย และเป็นสัจธรรมเพียงครึ่งเดียว
และสัจธรรมเพียงครึ่งเดียวมีอันตรายมากกว่าความเท็จโดยสมบูรณ์ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้าหากบรรดามุสลิมไม่เอาใจใส่ต่อการประกาศนี้ พวกเขาจะต้องประสบกับภาระหนักและความยากลำบากทั้งทางด้านวัตถุและจิตวิญญาณ
Source : tebyan.net