สารัตถะแห่งเดือนรอมฎอน

577

เดือนแห่งการถือศีลอด شهرالصيام
ท่านอับดุรเราะห์มาน บินบะชีร ได้กล่าวว่า “เมื่อเดือนรอมฎอนมาเยือน ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) จะกล่าวดุอาบทนี้ทุกวัน ว่า โอ้แต่ข้าพระองค์ เดือนนี้คือเดือนรอมฎอน และคือเดือนแห่งการถือศีลอด”

และยังมีรายงานอีกว่า เมื่อเดือนรอมฎอนมาเยือน ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) จะเรียกเดือนรอมฎอนอันประเสริฐนี้ว่า “เดือนแห่งการถือศีลอด”

صوم และ صيام ทั้งสองให้ความหมายเดียวกัน คือ การออกห่าง และยับยั้งจากการกระทำกิจการงานหนึ่งกิจการงานใด ซึ่งกิจการงานที่ว่านี้บางครั้งอาจจะเป็นการพูด การกิน การดื่ม การเดิน หรือการหาความสำราญใดๆ ก็ตาม

ม้าที่ไม่ยอมเดินไปข้างหน้า ถูกเรียกว่า صائمสายลมที่หยุดนิ่งไม่มีการพัดไหว ถูกเรียกว่า صوم

صوم และ صيام ในทัศนะของบทบัญญัติทางศาสนาคือ การงด ละเว้น จากกิจการงานต่างๆที่ถูกจำเพาะเอาไว้ในเวลาที่ถูกกำหนด ด้วยการตั้งจิตอธิษฐาน (เนี๊ยต) เริ่มตั้งแต่รุ่งสางจนพระอาทิตย์ตกดิน การถือศีลอดถือเป็นภารกิจที่สำคัญทีสุดในเดือนรอมฎอนอันทรงเกียรติ ในทุกๆวันของเดือนรอมฎอนทั้งสามสิบวัน จะเริ่มต้นด้วยการถือศีลอดและจบวันเหล่านั้นด้วยการละศีลอด การถือศีลอด กับเดือนรอมฎอน มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เนื่องจากหากเราได้ไปศึกษาดูในบทดุอาอ์ต่างๆที่มีอยู่ในเดือนนี้ ส่วนมากแล้วบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) จะสอนบทดุอาอ์ที่ขอให้พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงตอบรับการถือศีลอดของเรา และขอให้เรานั้นได้เข้าถึง เข้าใจ ต่อการถือศีลอดที่แท้จริงด้วยเช่นเดียวกัน

ซึ่งในหนังสือ กุญแจแห่งสรวงสวรรค์ (มะฟาติฮุลญินาน) ได้บันทึกบทดุอาอ์เหล่านั้นเอาไว้ เช่น เมื่อค่ำคืนแรกของเดือนรอมฎอนมาเยือนท่าน ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้กล่าวขึ้นว่า “ขอสำนึกในพระมหากรุณาอันล้นพ้นยังพระองค์ผู้ทรงยิ่งใหญ่ พระผู้ซึ่งได้ทำให้เรามีเกียรติด้วยสื่อของเจ้าโอ้เดือนแห่งความจำเริญ โอ้อัลลอฮ์ ได้ทรงโปรดทำให้เรามีพลังในการถือศีลอดและการลุกขึ้นในเดือนนี้ด้วยเถิด”
และยังมีอีกรายงานได้กล่าวว่า เมื่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้เห็นเดือนของเดือนรอมฎอน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้ผินหน้าไปยังกิบลัต และกล่าวขึ้นว่า “โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานความสำเร็จในการ ถือศีลอด การนมาซ การอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน แก่เราในเดือนนี้ด้วยเถิด”

เช่นกันท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีแก่พวกท่านทั้งหลายต่อการมาเยือนของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เนื่องจากว่าการถือศีลอดในเดือนนี้นั้นจะเป็นโล่ป้องกันไฟนรกอเวจี”

เดือนแห่งอัลอิสลาม شهر الاسلام
เดือนรอมฎอน คือเดือนแห่งอัลอิสลาม เนื่องจากว่าเดือนนี้นั้น เฉพาะสำหรับศาสนาอิสลาม เป็นเดือนที่การถือศีลอดในเดือนนี้นั้นเป็นสิ่งวายิบ (จำเป็นต้องปฏิบัติ) โดยตรงสำหรับประชาชาติมุสลิม ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในครั้งหนึ่งต่อหน้าประชาชาติมุสลิมในการต้อนรับการมาเยือนของเดือนรอมฎอนว่า “พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ได้เตรียมเดือนรอมฎอนไว้สำหรับพวกเจ้าโดยเฉพาะ”

ยังมีรายงานของท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) กล่าวอีกว่า “อิสลามตั้งอยู่บนพื้นฐานห้าประการคือ 1-นมาซ 2-ซะกาต 3-ฮัจญ์ 4-ศีลอด 5-วิลายัต และทั้งห้าประการนี้ไม่มีสิ่งไหนจะสำคัญยิ่งไปกว่าเรื่องของวิลายัต”

เดือนแห่งการลุกขึ้น (เพื่อปฏิบัติการเคารพภักดีต่อพระองค์) شهر القيام
เดือนรอมฎอนคือเดือนแห่งการลุกขึ้น บรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลุกขึ้นในเดือนนี้ไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะบรรดาชีอะฮ์ของท่าน เนื่องจากเมื่อเดือนรอมฎอนมาเยือนท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้กล่าวว่า “ขอสำนึกในพระมหากรุณาอันล้นพ้นยังพระองค์ผู้ทรงยิ่งใหญ่ พระผู้ซึ่งได้ทำให้เรามีเกียรติด้วยสื่อของเจ้าโอ้เดือนแห่งความจำเริญ โอ้อัลลอฮ์ ได้ทรงโปรดทำให้เรามีพลังในการถือศีลอดและการลุกขึ้นในเดือนนี้ด้วยเถิด”

และอีกรายงานท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ยังได้กล่าวอีกว่า “โอ้ประชาชนเอ๋ย เดือนที่สำคัญยิ่งได้มาเยือนพวกท่านแล้ว เดือนซึ่งค่ำคืนหนึ่งในเดือนนี้นั้นประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน และเดือนนี้ คือเดือนรอมฎอน พระผู้เป็นเจ้าได้ทำให้การถือศีลอดในเดือนนี้เป็นภารกิจจำเป็นที่ทุกคนต้องปฏิบัติ และพระองค์ทรงทำให้ผลบุญของการลุกขึ้นมาปฏิบัตินมาซมุสตะฮับ (นมาซภาคอาสา) แค่คืนเดียวในเดือนอันจำเริญนี้ เทียบเท่ากับการนมาซมุสตะฮับในเดือนอื่นๆ ถึงเจ็ดสิบคืน”

ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้กล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานการถือศีลอดในเดือนนี้ให้แก่ฉันด้วยเถิด โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานโอกาสในการลุกขึ้น (เพื่อปฏิบัติการเคารพภักดีต่อพระองค์) แก่ฉันด้วยเถิด”

ramadan011

การลุกขึ้น ในเดือนนี้นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นว่าเมื่อเดือนรอมฎอนกำลังจะจากไป ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้พร่ำวิงวอนขอจากพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ให้พระองค์ทรงประทานโอกาสในการ “กิยาม” ในเดือนรอมฎอนปีหน้าอีกด้วย ซึ่งในคำวิงวอนของท่านอิมามมะอ์ซูม (อ.) หลายๆท่านด้วยกันต่อเรื่องนี้เราสามารถที่จะ ให้ความหมายของการลุกขึ้น หรือ กิยาม ได้พอสังเขปดังนี้

1- กิยาม หมายถึงการลุกขึ้นปฏิบัตินมาซภาคอาสา (นมาซมุสตะฮับ) ในยามค่ำคืนของเดือนนี้ทั้งเดือน เนื่องจากหากเราไปดูในหนังสือ มะฟาติฮุลญินาน (กุญแจแห่งสรวงสวรรค์) เราจะพบกับนมาซต่างๆ อย่างมากมายที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) และบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) ได้สั่งเสียเอาไว้ให้ประชาชาติมุสลิมได้ปฏิบัติเพื่อความใกล้ชิดยังพระองค์ แม้กระทั่งบรรดาผู้รู้หลายท่านด้วยกันที่ได้เน้นย้ำการนมาซภาคอาสาในค่ำคืนของเดือนรอมฎอนนับเป็นพันๆ รอกะอัต อาธิเช่นท่านอัลลามะฮ์ มัรฮูม มัจญลีซีย์ เป็นต้น

2- กิยาม หมายถึงการลุกขึ้นรับประทานอาหารในช่วงก่อนรุ่งสาง (ซุฮูร) ซึ่งเป็นภารกิจภาคอาสา (มุสตะฮับ) เช่นกัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ต่างมีความสุขกับการหลับใหล แต่ประชาชาติมุสลิมในเดือนรอมฎอนจะลุกขึ้นมาตระเตรียมอาหาร และรับประทานอาหารเพื่อถือศีลอดในช่วงกลางวันตลอดทั้งวัน

3- กิยาม หมายถึงการลุกขึ้นต่อสู้กับอารมณ์ฝ่ายต่ำของตนเอง การต่อสู้กับการลวงล่อของชัยฏอนมารร้าย เพื่อเข้าสู่การพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งมนุษย์สามารถที่จะใช้โอกาสแห่งเดือนรอมฎอนในการเปลี่ยนแปลงตนเอง พัฒนาตนเองได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับวันและเวลาในเดือนอื่นๆ

สรุปแล้วการกิยาม หรือการลุกขึ้นไม่ว่าจะให้ความหมายในรูปแบบใด หากการลุกขึ้นนั้นเป็นการลุกขึ้นเพือพระผู้เป็นเจ้า เป็นการลุกขึ้นในหนทางของพระองค์ การลุกขึ้นนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทันที และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารยกระดับตัวตนแห่งการเป็นมนุษย์ และสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่

เดือนแห่งการหวนกลับ شهر التوبة
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้กล่าวว่า “เดือนรอมฎอนคือเดือนแห่งพระผู้เป็นเจ้า คือเดือนแห่งการหวนกลับ (เตาบะฮ์)” ในเดือนรอมฎอนตลอดทั้งเดือนท่านศาสดาจะกล่าวอยู่ตลอดเวลาว่า “อัลลอฮุมมะ อินนะ ฮาซา ชะฮ์รุรอมมะฎอน วะฮาซา ชะฮ์รุตเตาบะฮ์” หมายถึง โอ้อัลลอฮ์ เดือนนี้คือเดือนรอมฎอน เป็นเดือนแห่งการหวนกลับ (เตาบะฮ์)”

ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) ผู้นำการปฏิวัติอิสลามผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวอรรถาธิบายเรื่องการ เตาบะฮ์ ไว้ในหนังสือ สี่สิบฮะดีษของท่านว่า “เตาบะฮ์คือ การหวนกลับจากลักษณะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ หรืออุปนิสัยสันดานของสิ่งๆนั้น ไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งความเป็นตัวตน หลังจากที่รัศมีแห่งความบริสุทธิ์ของความเป็นตัวตนได้หลงใหลอยู่กับความมืดแห่งสันดานในสิ่งๆนั้น ด้วยการทำความผิด และขัดขืนคำสั่งต่างๆ”

พระผู้เป็นเจ้ามีความรักต่อผู้ที่หวนกลับไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งจิตวิญญาณ เป้าหมายที่สูงสุดของบรรดาศาสดาที่มายังโลกนี้คือการเชิญชวนมนุษยชาติให้หวนกลับ เพราะการหวนกลับคือแนวทางเดียวที่จะทำให้มนุษยชาติเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้ดีที่สุด การละเว้นจากการกระทำความผิด การกระทำบาป และหวนกลับสู่หนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า คือสารัตถะสำคัญของการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์ การหวนกลับ (เตาบะฮ์) คือสิ่งที่งดงามที่สุดในเรื่องของการขออภัยโทษจากพระองค์

ในรายงานหนึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้กล่าว่า “ในค่ำคืนแรกของเดือนรอมฎอนพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) จะทรงสั่งให้บรรดามะลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์) ว่า จงตระเตรียมสรวงสวรรค์ไว้ให้พร้อม แด่บรรดาผู้ที่ถือศีลอดจากประชาชาติของมุฮัมมัด (ศ.) และจงไปปิดประตูนรกสำหรับผู้ที่ถือศีลอด และอย่าเปิดเด็ดขาดจนกระทั่งเดือนรอมฎอนจะจบสิ้น และยังทรงสั่งให้ญิบรออีลลงไปยังพื้นพิภพเพื่อปิดกั้นการล่อลวงของชัยฎอนมารร้ายที่จะทำลายการถือศีลอด และความศรัทธาของประชาชาติของมุฮัมมัดอีกด้วย”

แท้จริงแล้วการหวนกลับ (เตาบะฮ์) สำหรับประชาชาติของมุฮัมมัด (ศ.) ไปสู่พระองค์ผู้ทรงยิ่งใหญ่นั้นมีอยู่ทุกวันแ ละทุกเวลา แต่เดือนรอมฎอนถือว่าเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ที่ต้องการหวนกลับ เนื่องจากว่าในเดือนนี้นั้น ความเหมาะสมอันมากมาย และการยอมรับจะมีมากกว่าเดือนอื่นๆหลายเท่านัก ดังรายงานที่กล่าวไปแล้วข้างต้นจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.)

และท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ยังได้กล่าวอีกว่า “พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) จะทรงถามอยู่ตลอดทั้งเดือนรอมฎอนว่า มีหรือไม่ผู้ที่ต้องการหวนกลับ (เตาบะฮ์) เพื่อที่เราจะได้ตอบรับการเตาบะฮ์ของเขา???????”

ramadan012

การเตาบะฮ์ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) ได้เน้นย้ำให้ชีอะฮ์ของท่านถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายๆ คำวิงวอนของบรรดาผู้บริสุทธิ์เหล่านั้นได้วิงวอนขอการหวนกลับจากพระองค์อยู่เป็นนิจสิน แต่การที่บรรรดาผู้บริสุทธิ์เหล่านั้นวิงวอนขอเช่นนั้นมิได้หมายความว่าพวกเขาตกอยู่ในความมืดมิด แต่นั่นคือแบบอย่างที่พวกเขาต้องการนำเสนอให้กับมนุษยชาติได้นำมาปฏิบัติเพื่อยังความใกล้ชิดกับพระองค์

ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเตาบะฮ์เอาไว้ว่า “โอ้ประชาชาติที่รักทั้งหลาย จงอย่าเพิกเฉยกับการเตาบะฮ์อย่างเด็ดขาด จงคิดใคร่ครวญถึงสภาพของตนเอง จุดจบของตนเองที่กำลังจะมาเยือน จงย้อนกลับไปสู่คัมภีร์ของพระองค์ แบบอย่างของศาสดามุฮัมมัด (ศ.) แบบอย่างของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และคำตักเตือนของบรรดาผู้รู้ที่อยู่ในหมู่พวกท่าน ประตูการเตาบะฮ์ คือประตูที่จะเข้าไปสู่ประตูต่างๆอีกมากมาย จงสำรวจตนเองให้ดี

การเตาบะฮ์คือสถานพำนักหนึ่ง จากสถานพำนักแห่งการเป็นมนุษย์ที่แท้จริง จงเข้าไปพำนักในสถานที่นั้น จงให้ความสำคัญกับมัน จงรักษามันไว้ให้มั่น จงวิงวอนขอจากพระองค์ให้มากต่อการได้เป็นผู้เตาบะห์ที่แท้จริง จงขอความช่วยเหลือผ่านท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) และจากบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) จงพึ่งพิงยังท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) สัญญาณแห่งพระองค์บนหน้าแผ่นดินนี้ เนื่องจากท่านจะทรงช่วยเหลือผู้อ่อนแอ และยากไร้อยู่เสมอ

โอ้ประชาชาติที่รักเอ๋ย อย่าปล่อยให้บรรดาชัยฏอนมารร้ายมีโอกาสเข้ามาลวงล่อ อย่าปล่อยให้อารมณ์ฝ่ายต่ำมีอำนาจเหนือพวกท่าน จนทำให้พวกท่านต้องออกห่างจากการเป็นผู้ที่หวนกลับไปยังพระองค์ พึงรู้ไว้เถิดว่า แม้ว่าสิ่งใดก็ตามที่มันหนักหน่วง แต่หากไม่มีการเคลื่อนไหวแม้แต่น้อยมันก็จะไร้ผล มาดแม้นว่า นมาซ การถือศีลอด สิทธิต่างๆ ของพระองค์จะมากมายเพียงใด สิทธิต่างๆ ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็มีมากเช่นนั้น

โอ้ประชาชาติที่รัก แม้ว่าความผิด บาปต่างๆ จะมากมายเพียงใด จงอย่างสิ้นหวังในความเมตตาจากพระองค์เด็ดขาด การเคลื่อนใหวเพียงนิดไปสู่พระองค์ของพวกท่าน พระองค์จะทรงเปิดทางแห่งความรอดพ้นแก่พวกท่านอย่างมากมายและไม่มีที่สิ้นสุด”

โดย เชคมาลีกี ภักดี