การถือศีลอดมีมุมมองหลายอย่างที่สามารถค้นหาได้ มีผลประโยชน์มากมายมหาศาลซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่ดียิ่งต่อร่างกายและจิตวิญญาณของมนุษย์ และที่สำคัญที่สุด คือ การถือศีลอดเป็นคุณลักษณะด้านจริยธรรม และเป็นปรัชญาด้านการศึกษาให้กับมนุษย์ด้วย
ผลประโยชน์ที่สำคัญและสูงสุดของการถือศีลอด คือ ทำให้จิตใจของมนุษย์มีความเมตตา มีความยำเกรง ทำให้จิตใจสงบมากขึ้น และทำให้สัญชาติญาณความปรารถนาอันรุนแรง และความต้องการต่างๆของพวกเขาเบาบางลงได้
บุคคลที่ได้ทำการถือศีลอด แน่นอนเขาจะต้องมีความหิวและกระหาย แต่ทว่าเขาจะต้องงดจากการรับประทาน การดื่ม และงดจากความปรารถนาต่างๆ ของร่างกายเอาไว้ ทั้งๆ ที่เขาสามารถจะรับประทาน ดื่ม และทำตามสิ่งที่ตนปราถนาได้ตามความพึงพอใจ แต่เมื่อเขาคือผู้ถือศีลอด เขาได้พิสูจน์ให้เห็นโดยการปฏิบัติว่าเขาไม่ใช่สัตว์ที่ถูกขังไว้ในคอก แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ สามารถบังคับจิตวิญญาณ ที่มีแต่ความปราถนา และสามารถเอาชนะความต้องการแห่งตัณหาราคะต่างๆ ของพวกเขาได้ด้วยตัวเอง
ผู้ถือศีลอดได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังแห่งความเชื่อ พลังแห่งความรัก พลังแห่งศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นการถือศีลอดไม่ใช่การฝืน ไม่ใช่การบังคับ ไม่ใช่ประเพณีวัฒนธรรม แต่เป็นการน้อมรับพระบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้าโดยดุษดี
ในความเป็นจริงแล้ว ปรัชญาการถือศีลอดสามารถอธิบายได้หลายแง่หลายมุม แต่ที่สำคัญที่สุด คือปรัชญาแห่งจิตวิญญาณที่มนุษย์จะได้รับจากการถือศีลอด มนุษย์มีอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายให้กินและดื่มซึ่งอยู่ในการควบคุมของพวกเขาเอง พวกเขาสามารถเอื้อมมือไปหยิบไปฉวยมารับประทานหรือดื่มได้ในทุกโอกาส ที่เขาประสบกับความหิวโหยหรือกระหาย
หากเปรียบเสมือนต้นไม้ที่เติบโตขึ้นใกล้ๆ แหล่งน้ำและอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ต้นนี้ได้รับการสวมกอดและถูกพะเน้าพะนอด้วยความสมบูรณ์อย่างเปรมปรี แต่หากถูกตัดขาดจากน้ำและอาหารภายในไม่กี่วัน มันก็จะแห้งและเหี่ยวเฉาไปทันที เพราะต้นไม้ต้นนี้ชินอยู่กับการได้รับในสิ่งที่ตนปราถนาอยู่ตลอดเวลา นั่นหมายความว่าต้นไม้ต้นนี้จะมีความต้านทานน้อยและมีอายุสั้น
ในทางตรงกันข้ามต้นไม้อีกต้นที่เติบโตขึ้นอยู่ระหว่างซอกหินบนภูเขา หรือในท้องทะเลทราย ซึ่งห่างไกลจากน้ำและความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ และถูกรายล้อมไปด้วยพายุร้าย ถูกแผดเผาด้วยความร้อนจากรังสีของดวงอาทิตย์ ต้องเผชิญกับอากาศที่หนาวจัด และขาดสิ่งอำนวยความสะดวกรอบข้าง ตั้งแต่แรกเริ่ม ต้นไม้เหล่านี้จะแข็งแรง ทนทาน และมีแรงต้านทานสูง !
จิตวิญญาณของผู้ที่ถือศีลอดก็เช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบกับต้นไม้สองต้นที่หยิบยกมากล่าว จิตวิญญาณของมนุษย์ที่เปรมปรีอยู่กับความปราถนาต่างๆ ของตัวเอง วันนี้จิตวิญญาณนั้นต้องยินยอม และยับยั้งความปรารถนาต่างๆ เพียงชั่วคราว ด้วยความตั้งใจที่เข้มแข็ง มั่นคง เพื่อที่จิตวิญญาณนั้น จะสามารถเผชิญหน้ากับความยากลำบาก และเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆที่เกิดขึ้นได้ และเนื่องจากการถือศีลอด ได้ไปควบคุมสัญชาตญาณการไม่เชื่อฟัง อารมณ์ปราถนาฝ่ายต่ำต่างๆของมนุษย์ จึงทำให้จิตวิญญาณของมนุษย์บริสุทธิ์ขึ้น และสามารถต้านทานความปราถนาต่างๆ ที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความต่ำต้อยได้ในที่สุด
เราสามารถที่จะกล่าวโดยสรุปได้ว่า การถือศีลอด เป็นการยกระดับมนุษย์ออกจากโลกของสัตว์เดรัจฉาน และยกพวกเขาขึ้นไปสู่อาณาจักร หรือดินแดนของมวลมาลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์) และจะมีฐานะภาพที่สูงส่งกว่าบรรดามวลมะลาอีกะฮ์อีกด้วย ดั่งพระดำรัสของอัลลอฮ์ (ซ.บ) ในซูเราะฮ์ อัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 183 ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้มาก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้มีความยำเกรง”
ในขณะที่ตามความเชื่อของเราที่รู้กันดี ว่าการถือศีลอด คือโล่ป้องกันไฟแห่งนรก ซึ่งเป็นข้ออ้างอิงหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนที่สุด เพราะการถือศีลอดจะนำมนุษย์เข้าสู่การเป็นผู้ที่มีความยำเกรง และเมื่อมนุษย์มีความยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลแล้ว มนุษย์ก็จะออกห่างจากการกระทำความผิดทั้งปวง
มีรายงานจากท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีน อิมามอะลี (อ.) ว่า “สาวกบางคนได้ถามท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ว่า : เราควรจะทำอย่างไรเพื่อให้มารร้ายที่คอยลวงล่อเราห่างไกลจากเรา? ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) จึงได้ตอบว่า : การถือศีลอด จะทำให้ใบหน้าของมารร้ายฟกช้ำ การปฏิบัติภารกิจในหนทางของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทำให้สันหลังของพวกมันหัก การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเพื่อความพึงพอพระทัยของพระองค์ การอุตสาหะในการกระทำความดี จะตัดรากถอนโคนของพวกมัน และการแสวงหาการอภัยโทษจากพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) จะฉีกเส้นเลือดดำในหัวใจของพวกมันออกเป็นเสี่ยงๆ”
ในหนังสือนะห์ญุลบะลาเฆาะห์ ในหัวข้อที่อธิบายถึงปรัชญาของการทำอิบาดะฮ์ต่างๆ ในเรื่องของการถือศีลอด ท่านอะมีรุ้ลมุมินีน อิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้ว่า ” พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ได้ทรงตรัสว่า การถือศีลอด ก็เพื่ออบรมบ่มนิสัย (คุณลักษณะต่างๆ) แห่งจิตวิญญาณของมนุษย์นั่นเอง”
และอีกรายงานหนึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้กล่าวไว้ว่า “ในสรวงสวรรค์มีประตูบานหนึ่งที่ชื่อว่า “รัยยาน” (ประตูแห่งความพึงพอใจ) และจะไม่มีผู้ใดผ่านเข้าสู่สรวงสวรรค์ทางประตูบานนี้ได้ นอกจากบรรดาผู้ที่ถือศีลอดเท่านั้น”
ท่านเชคศ๊อดดูก ได้อธิบายถึงรายงานข้างต้นเอาไว้ในหนังสือ อัลมะอานี อัลอัคบัร ของท่านว่า “เหตุผลที่พระองค์เลือกชื่อเฉพาะสำหรับประตูสวรรค์บานนี้ว่า “รัยยาน” ก็เพราะว่า ความทรมานจากความไม่สะดวกสบายสูงสุดของผู้ที่ถือศีลอด นั้นเนื่องมาจากการกระหายน้ำ เมื่อพวกเขาได้ผ่านประตูบานนี้ไป พวกเขาเหล่านั้นจะถูกทำให้พึงพอใจอยู่ในท่าทีที่จะไม่ประสบกับความกระหายอีกเลยนิรันดร”
และนี้คือปรัชญาขั้นสูงสุดของการถือศีลอดที่มนุษย์จะได้รับ นั่นคือผลพวงแห่งการมีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ และยกระดับมนุษย์ออกจากสัตย์เดรัจฉาน กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เข้าสู่ระดับที่สูงส่งกว่ามวลมะลาอิกะห์ แต่มีเงื่อนไขอยู่ที่ว่า จะต้องเป็นการถือศีลอดที่ตรงตามเป้าหมายที่พระองค์วางไว้เท่านั้น มิใช่การถือศีลอดตามประเพณีวัฒนธรรม ที่เข้าใจกันว่า เป็นแค่กฏเกณฑ์ และการอดกินและดื่มเพียงอย่างเดียว