โองการอัล-กุรอานที่เกี่ยวกับเรื่องราวของศาสดาสุลัยมาน(อ.) ส่วนใหญ่ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของท่านกับราชินีแห่งสะบาอฺ รายละเอียดสำคัญที่ถูกกล่าวถึงคือเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของสองอาณาจักร โองการเหล่านั้นยังกล่าวถึงตัวอย่างในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ความสามารถในการบริหารราชการของศาสดาสุลัยมาน รวมถึงการแสดงตัวเป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าต่ออาณาจักรอื่นๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ฮุดฮุด ทหารนกตัวหนึ่งในกองทัพของศาสดาสุลัยมาน(อ.) ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับเมืองสะบาอฺและราชินีของเมืองนั้นมาแจ้งแก่ศาสดาสุลัยมาน(อ.)
“มันหายไปชั่วครู่ (แล้วกลับมา) มันได้กล่าวว่า “ฉันได้ไปตรวจพบสิ่งที่ท่านไม่รู้ และฉันได้นำข่าวอันแน่นอนจากสะบาอฺ มายังท่าน ฉันได้พบหญิงคนหนึ่งปกครองพวกเขา และนางมีทุกสิ่งทุกอย่าง และนางมีบัลลังก์อันใหญ่โต และฉันได้พบว่านางและหมู่ชนของนางสักการะบูชาดวงอาทิตย์อื่นจากอัลลอฮฺ และมารชัยฎอนได้ทำให้การงานของพวกเขาเป็นของดีงามแก่พวกเขา และได้กีดกันพวกเขาออกจากแนวทางที่ถูกต้อง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง” (อัล-กุรอาน 27/22-24)
ถึงแม้ฮุดฮุดจะเป็นเพียงนกตัวหนึ่ง แต่มันก็สามารถเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่มันเห็น และบอกเล่าข้อมูลเหล่านั้นแก่ศาสดาสุลัยมาน(อ.)
ศาสดาสุลัยมาน(อ.) ได้สั่งให้ทำการสืบสวนถึงความเป็นจริงของเรื่องนี้ และได้ส่งราชสาส์นไปยังราชินีแห่งสะบาอฺ
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
พวกท่านอย่าเย่อหยิ่งต่อฉัน และจงมาหาฉันอย่างนอบน้อม
“แท้จริงมันมาจากสุลัยมาน และแท้จริงมันเริ่มว่า ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ พวกท่านอย่าเย่อหยิ่งต่อฉัน และจงมาหาฉันอย่างนอบน้อม” (อัล-กุรอาน 27/30-31)
ราชินีแห่งสะบาอฺ ไม่ได้รู้เลยว่ากำลังถูกเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ ดังนั้นนางจึงมีปฏิกิริยาไปตามธรรมชาติด้วยความบริสุทธิ์ใจ เมื่อนางได้ปรึกษากับที่ปรึกษาของนางและแสดงความคิดเห็นที่แท้จริงของนางออกไป
เมื่อเห็นสาส์นนั้น นางคงเข้าใจได้ในทันทีว่ามันเป็นจดหมายที่สำคัญมาก ประการแรก ผู้ส่งสาส์นคือนกตัวหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษไปจากธรรมชาติของมัน และประการต่อมาคือตัวของสาส์นเองที่เขียนขึ้นด้วยกระดาษคุณภาพดี รูปแบบการเขียนแสดงถึงความมั่งคั่ง มีคุณค่าทางศิลปะ และทรงอำนาจ นางอาจจะได้อ่านสาส์นนี้ด้วยตัวเองก่อน แล้วจึงเรียกคณะที่ปรึกษามา
“พระนางทรงกล่าวว่า “โอ้หมู่บริหารทั้งหลายเอ๋ย ! จงให้ข้อชี้ขาดแก่ฉันในเรื่องของฉัน ฉันไม่อาจจะตัดสินใจในกิจการใด จนกว่าพวกท่านจะอยู่ร่วมด้วย” (อัล-กุรอาน 27/32)
การที่นางได้เรียกคณะที่ปรึกษามาเพื่อขอคำแนะนำนั้น แสดงให้เห็นว่านางไม่ได้ยึดกุมอำนาจอย่างเด็ดขาด แต่ดำเนินไปตามระบบแห่งประชาธิปไตย ด้วยการขอความเห็นจากประสบการณ์ของพวกเขา
“พวกเขากล่าวว่า “เราเป็นพวกที่มีพลังและเป็นพวกที่มีกำลังรบเข็มแข็ง สำหรับพระบัญชานั้นเป็นของพระนางดังนั้น พระนางได้โปรดตรึกตรองดูสิ่งใดที่พระนางจะทรงบัญชา” (อัล-กุรอาน 27/33)
เมื่อคิดดูแล้วว่ากองทัพของนางคงไม่สามารถเอาชนะกองทัพของศาสดาสุลัยมาน(อ.) ได้ นางจึงตัดสินใจยอมรับตามคำเรียกร้องของท่าน แต่ก็เพื่อซื้อเวลาสำหรับการหาทางออก นางจึงได้ส่งเครื่องบรรณาการไปให้แก่ศาสดาสุลัยมาน(อ.) ก่อน เพื่อดูว่าความตั้งใจที่แท้จริงของท่านนั้นคืออะไร
“เมื่อพวกเขาได้เข้าพบสุลัยมานแล้ว เขา(สุลัยมาน) กล่าวว่า “พวกท่านจะนำทรัพย์สินมากำนัลแก่เราหรือ ? สิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่ฉันนั้นดียิ่งกว่าสิ่งที่พระองค์ประทานให้แก่พวกท่าน แต่พวกท่านดีใจต่อของกำนัลของพวกท่าน จงกลับไปยังพวกเขา แน่นอนเราจะนำไพร่พลไปยังพวกเขา โดยที่พวกเขาไม่มีกำลังที่จะต่อต้านมันได้ และแน่นอน เราจะให้พวกเขาออกจากที่นั่นอย่างอัปยศ และพวกเขาจะเป็นผู้ต่ำต้อย” (อัล-กุรอาน 27/36-37)
คำตอบของศาสดาสุลัยมาน(อ.) แสดงให้นางเห็นว่าท่านไม่มีความสนใจต่อของกำนัลเครื่องบรรณาการใดๆ และอัลลอฮฺได้ประทานให้แก่ท่านดีกว่าสิ่งที่นางส่งมา อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าท่านแสวงหาเพียงความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮฺเท่านั้น ท่านได้ส่งทูตของนางกลับไป เป็นการเตือนให้นางอย่าพึงพอใจกับทรัพย์สินของนางและอย่าเย่อหยิ่ง เพราะท่านนั้นเหนือกว่าทั้งด้านทรัพย์สินและกองกำลัง ด้วยเหตุนี้ นางจึงตัดสินใจเดินทางมาเพื่อเจรจากับท่านด้วยตัวเอง
ระหว่างนั้น ศาสดาสุลัยมาน(อ.) ต้องการเครื่องพิสูจน์ที่ทำให้ราชินีแห่งสะบาอฺ ยอมจำนนในพระผู้เป็นเจ้าในทันที ท่านจึงสั่งการให้ทหารของท่านนำบัลลังก์ของนางมา
“เขา (สุลัยมาน) กล่าวว่า “โอ้หมู่บริพารทั้งหลายเอ๋ย ! ผู้ใดในหมู่พวกท่านจะนำบัลลังก์ของนางมายังฉัน ก่อนที่พวกเขาจะมาหาฉันอย่างผู้นอบน้อม” (อัล-กุรอาน 27/38)
ญิน (สิ่งถูกสร้างคล้ายมนุษย์แต่ไร้รูป) ตนหนึ่งได้อาสาเป็นผู้ไปนำบัลลังก์ของนางมาภายในพริบตา ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งในเรื่องนี้
“ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องคัมภีร์กล่าวว่า “ฉันจะนำมันมาเสนอท่านในชั่วพริบตาเดียว” เมื่อเขา (สุลัยมาน) เห็นมันวางมั่นคงอยู่ต่อหน้าเขา เขากล่าวว่า “นี่เนื่องจากความโปรดปรานของพระเจ้าของฉัน เพื่อพระองค์จะได้ทรงทดสอบฉันว่าฉันกตัญญูหรือเนรคุณ และผู้ใดกตัญญูแท้จริงเขาก็กตัญญูต่อตัวเขาเอง และผู้ใดเนรคุณแท้จริงพระเจ้าของฉันนั้นเป็นผู้ทรงมั่งมี ผู้ทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยิ่ง” (อัล-กุรอาน 27/40)
เมื่อราชินีแห่งสะบาอฺได้มาเห็นบัลลังก์ของนางอยู่ที่นั่น นางตกตะลึงและคาดไม่ถึง และยอมจำนนต่อศาสดาสุลัยมาน(อ.) และพระผู้อภิบาลของท่านในที่สุด
“….นางได้กล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าของฉัน แท้จริงฉันได้อธรรมแก่ตัวฉันเอง และฉันขอนอบน้อมปฏิบัติตามสุลัยมาน เพื่ออัลลอฮฺ พระเจ้าแห่งสากลโลก” (อัล-กุรอาน 27/44)
Source : www.harunyahya.com