ตลอดระยะเวลาสี่สิบปีของชีวิตก่อนการแต่งตั้งนั้น มุฮัมมัด(ศ.) ศาสดาแห่งอิสลามเข้าร่วมสังคมกับผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซื่อสัตย์ ไว้วางใจได้ และเที่ยงธรรม ท่านทำดีต่อคนยากจนและฐานันดรที่ต่ำกว่า ท่านรังเกียจการกระทำที่ผิดศีลธรรมต่างๆ ในสังคม รวมทั้งประเพณีการสักการะเทวรูปด้วย ความประพฤติที่มีศีลธรรมและเมตตาธรรมอันสูงส่งของท่านเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั้งหมด แม้กระทั่งอัลลอฮฺ(ซ.บ.) ก็ได้ยกย่องสรรเสริญท่านในคัมภีร์อัล-กุรอานสำหรับคุณธรรมอันสูงส่งของท่าน ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) มีชื่อเล่นที่เรียกขานกันโดยทั่วไปว่า “อัล-อามีน – ผู้ซื่อสัตย์” มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก คนทั่วไปจึงไว้วางใจที่จะฝากทรัพย์สินของพวกเขาให้ท่านดูแล
ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะต่อต้านภารกิจของท่านในฐานะศาสดา แต่ก็ไม่มีใครสงสัยในความน่าเชื่อถือของท่าน และถึงแม้จะมีผู้ตั้งตนเป็นศัตรูต่อท่านในเมือง แต่ก็ไม่มีใครสงสัยในความซื่อสัตย์ของท่าน
ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) จะเอ่ยพระนามของอัลลอฮฺ(ซ.บ.) ก่อนรับประทานอาหารเสมอ และไม่เคยรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ถูกเชือดอย่างถูกต้อง
การประทานโองการครั้งแรก(วะฮีย์) แก่ศาสดามุฮัมมัด(ศ.)
เมื่อศาสดามุฮัมมัด(ศ.) อายุ 40 ปี ท่านพร้อมแล้วสำหรับภารกิจอันสูงส่ง ในรุ่งสางของวันแห่งการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลก วันที่ 27 รอญับ ปีค.ศ.610 ญิบรออีล ประมุขแห่งเทวทูต ได้ลงมายังท่าน ในขณะที่ท่านนั่งอยู่ในถ้ำฮิรออฺ บนภูเขาอัน-นูรฺที่อยู่ใกล้เมืองมักกะฮฺ ญิบรออีลเทวทูตผู้นำโองการได้กล่าวขึ้นว่า “จงอ่าน!” ท่านได้กล่าวด้วยความประหลาดใจว่า “จะให้ฉันอ่านอะไรหรือ?” เสียงนั้นดังขึ้นอีกครั้งอย่างชัดเจนว่า “จงอ่าน โอ้มุฮัมมัด!”
และในครั้งที่สาม เทวทูตญิบรออีลได้กล่าวซ้ำว่า “จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงบังเกิด ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” (อัล-กุรอาน 96/1-5)
ด้วยโองการเหล่านี้เอง เทวทูตญิบรออีลได้ประกาศแก่ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ว่า อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ผู้ทรงยิ่งใหญ่ได้เลือกอย่างเป็นทางการให้ท่านเป็นศาสนทูตท่านสุดท้ายแก่มวลมนุษยชาติ เมื่อท่านศาสดา(ศ.) ได้รับการแต่งตั้ง ท่านตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ ท่านรู้สึกถึงความสูงส่งของอัลลอฮฺ(ซ.บ.) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ท่านศาสดา(ศ.) รู้สึกท่วมท้นไปด้วยความตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่ไม่อาจบรรยายได้ ที่ท่านได้เชื่อมโยงกับโลกที่เหนือธรรมชาติ บัดนี้ จิตวิญญาณอันสูงส่งของท่านได้ค้นพบการสนับสนุนและที่พึ่งอันเป็นนิรันดร์แล้ว ท่านมองเห็นพลังแห่งสภาวะการเป็นศาสดาในตัวของท่าน ไม่มีความกังวลและร้อนรุ่มใจในชีวิตของท่านอีกต่อไป มีแต่เพียงความสงบและความมั่นใจเท่านั้น
การแต่งตั้งมุฮัมมัด(ศ.) ศาสดาแห่งอิสลาม และการที่ท่านได้รับเลือกจากอัลลอฮฺ(ซ.บ.)ให้เป็นศาสนทูตนั้น ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม เป็นการประทานคัมภีร์อัล-กุรอานลงมาเป็นครั้งแรก
ท่าทีของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) หลังได้รับการแต่งตั้ง
เมื่อศาสดามุฮัมมัด(ศ.) กลับลงมาจากถ้ำฮิรออฺ เพื่อกลับบ้านนั้น ท่านพบว่าตัวเองมีอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างไป เป็นความรู้สึกแปลกๆ ราวกับอยู่ในอีกโลกหนึ่ง อยู่ในบรรยากาศอันสูงส่ง ก่อนจะไปที่ถ้ำนั้น ท่านไม่ใช่ศาสดา แต่บัดนี้ ท่านได้ผูกสัมพันธ์กับผู้บังเกิดสิ่งทั้งหลาย และสื่อสารกับต้นกำเนิดและผู้ทรงอำนาจที่สูงส่ง บัดนี้ ท่านได้ประจักษ์ถึงสิ่งที่นักบวชชาวคริสต์ ได้ทำนายเอาไว้เกี่ยวกับตัววท่านแล้ว และท่านรู้ดีว่าภาระอันยิ่งใหญ่วางอยู่บนบ่าของท่านแล้ว ท่านใฝ่ใจครุ่นคิดถึงแต่งานนั้น หากท่านจะมีความกังวลใจใดๆ ย่อมไม่ใช่เพราะความคลางแคลงในสภาวะการเป็นศาสดาของท่าน ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) เคยได้ยินข่าวดีนี้จากนักบวชคริสต์ผู้คงแก่เรียนท่านนั้นแล้ว และได้เห็นเทวทูตญิบรออีลนำข่าวดีมาบอกแก่ท่านเองว่า “ท่านคือศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ(ซ.บ.)” สิ่งเหล่านี้เพียงพอแล้วที่จะทำให้ท่านแน่ใจในภารกิจอันสูงส่งและสภาวะการเป็นศาสดาของท่าน
ดังนั้น มันจึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เป็นความผิดพลาดและไร้เหตุผลอย่างที่สุดในการจะกล่าวว่าศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ไม่รู้ว่าตัวท่านเป็นศาสดาจนกระทั่งคอดีญะฮฺ ภรรยาของท่านได้บอกและให้ความมั่นใจแก่ท่านถึงสภาวะการเป็นศาสดา
ท่านหญิงคอดีญะฮฺ สตรีคนแรกที่รับอิสลาม
สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นทำให้ท่านกลับบ้านสายกว่าปกติ ท่านหญิงคอดีญะฮฺมีความกังวลใจเพราะสามีของนางไม่เคยกลับบ้านสายแบบนี้มาก่อน ทันใดนั้น นางได้เห็นท่านเข้าบ้านมาด้วยสีหน้าและท่าทีที่แปลกใหม่ นางจึงถามท่าน
ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) จึงได้อธิบายเหตุการณ์ทั้งหมดให้นางฟัง ท่านหญิงคอดีญะฮฺคาดไว้แล้วว่าจะมีวันเช่นนี้
ซึ่งนางเคยได้รับฟังเรื่องที่มัยซาเราะฮฺ หญิงรับใช้ของนางเล่าถึงคำพูดของนักบวชคริสเตียนที่พบกันระหว่างการเดินทางไปดามัสกัส ที่บอกว่า มุฮัมมัด(ศ.) เป็นศาสดาแห่งอัลลอฮฺ(ซ.บ.) แก่ประชาชาตินางจึงครุ่นคิดและยอมรับสถานการณ์เป็นศาสดาของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) และเช่นนี้เอง ที่นางได้รับเกียรติให้เป็นผู้หญิงคนแรกในโลกที่ยอมรับอิสลาม
อิมามอะลี(อ.) บุรุษคนแรกที่รับอิสลาม
ในขณะนั้น ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้รับอิมามอะลี(อ.) บุตรชายของอบูฏอลิบผู้เป็นลุงของท่าน มาเลี้ยงดูที่บ้านของท่านเสมือนเป็นบุตรบุญธรรม อิมามอะลี(อ.) มีไหวพริบและสติปัญญาฉลาดหลักแหลม ท่านเชื่อฟังปฏิบัติตามศาสดามุฮัมมัด(ศ.)ด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างยิ่ง ในไม่ช้าท่านทราบดีถึงความสัตย์จริงของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) และเมื่ออายุได้เพียง 10 ปี ท่านได้ยอมรับศาสดาของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) และได้กลายเป็นบุรุษคนแรกที่ยอมรับอิสลาม และศรัทธาในศาสนาของศาสดามุฮัมมัด(ศ.)
Source : www.ezsoftech.com