มุฮัมมัด (ศ.) ก่อนเป็นศาสดา

193

เมื่อมุฮัมมัด(ศ.) อายุครบยี่สิบห้าปี ท่านมีชื่อเสียงในเรื่องความซื่อสัตย์ เป็นที่เคารพนับถือของทุกคน แม้แต่ผู้อาวุโสในเมืองมักกะฮฺ ลักษณะอันบริสุทธิ์ของท่านเพิ่มพูนขึ้นตามกาลเวลา ราวกับท่านมีความรู้อยู่ภายในที่คนอื่นๆ ไม่มี ท่านมีความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างโลกเพียงพระองค์เดียว และสักการะต่อพระองค์ด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ มุฮัมมัด(ศ.) เป็นคนที่เรียบง่ายดีเลิศที่สุด มีจิตใจเมตตา มีวาจาสัตย์ และเชื่อถือไว้วางใจได้มากที่สุดในชุมชนของท่าน ท่านเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวกุเรชว่าเป็น “ผู้ไว้วางใจได้” (อัลอามีน) เนื่องมาจาก

คุณสมบัติอันดีเลิศที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่ท่าน ท่านใช้เวลาหลายชั่วโมงในถ้ำบนภูเขาฮิรออฺ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากมักกะฮฺ เพื่อคิดไคร่ครวญถึงอัลลอฮฺ

ในเผ่ากุเรช มีสตรีที่มีเกียรติและร่ำรวยนางหนึ่งชื่อคอดีญะฮฺ นางทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าขายและได้ยินถึงกิตติศัพท์ของมุฮัมมัด(ศ.) จึงได้ส่งคนไปติดต่อให้ท่านเป็นผู้รับสินค้าของนางไปทำการค้าที่ซีเรีย มุฮัมมัด(ศ.) ตกลงและออกเดินทางไปซีเรียกับกองคาราวานของคอดีญะฮฺ โดยมีทาสคนหนึ่งของนางชื่อมัยซาเราะฮฺร่วมเดินทางไปด้วย มัยซาเราะฮฺและมุฮัมมัด(ศ.) ได้พูดคุยกันหลายครั้งในระหว่างการเดินทางร่วมกัน ในไม่ช้า มัยซาเราะฮฺก็รู้สึกนับถือมุฮัมมัด(ศ.) และคิดว่าเขาแตกต่างกับผู้ชายคนอื่นๆ ในเผ่ากุเรชเป็นอย่างมาก

มีเหตุการณ์แปลกประหลาดสองเรื่องเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งทำให้มัยซาเราะฮฺรู้สึกงุนงงเป็นอย่างยิ่ง เหตุการณ์แรกคือ เมื่อพวกเขาหยุดพักใกล้กับบ้านของนักบวชผู้หนึ่ง มุฮัมมัด(ศ.) นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ในขณะที่มัยซาเราะฮฺกำลังทำงานอย่างอื่นอยู่ นักบวชผู้นั้นได้เข้ามาถามมัยซาเราะฮฺว่า “ผู้ชายที่นั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้นั้นคือใคร?”

“เขาเป็นชาวกุเรช ชนเผ่าที่ทำหน้าที่พิทักษ์กะอฺบะฮฺ” มัยซาเราะฮฺตอบ

“ผู้ที่กำลังนั่งอยู่ใต้ต้นไม้นั้น เป็นใครไปไม่ได้นอกจากศาสดา” นักบวชตอบ

เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางกลับสู่มักกะฮฺ ในตอนเที่ยงวัน เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ตรงจุดที่ร้อนที่สุด มัยซาเราะฮฺขี่อูฐอยู่ทางเบื้องหลังของมุฮัมมัด(ศ.) และเมื่อดวงอาทิตย์เพิ่มความร้อนมากขึ้น นางได้เห็นเทวทูตสององค์ปรากฏตัวขึ้นเบื้องบนของมุฮัมมัด(ศ.) และแผ่ปีกคลุมท่านไม่ให้ได้รับอันตรายจากรังสีความร้อนของดวงอาทิตย์

การค้าครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง มุฮัมมัด(ศ.) ทำกำไรให้แก่คอดีญะฮฺได้มากกว่าที่นางเคยได้รับครั้งก่อนๆ นี้ เมื่อกลับมาถึงมักกะฮฺ มัยซาเราะฮฺได้บอกแก่คอดีญะฮฺในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง และสิ่งที่นางได้สังเกตเกี่ยวกับบุคลิกและความประพฤติของมุฮัมมัด(ศ.)

คอดีญะฮฺเป็นหญิงหม้ายในวัยสี่สิบ และพร้อมกันนั้นก็เป็นคนร่ำรวยที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างมาก นางเป็นคนสวยมากด้วยเช่นกัน ผู้ชายหลายคนต้องการจะแต่งงานกับนาง แต่ไม่มีใครเหมาะสม เมื่อได้พบกับมุฮัมมัด(ศ.) นางคิดว่าท่านพิเศษกว่าคนอื่นมาก นางจึงส่งเพื่อนคนหนึ่งไปถามมุฮัมมัด(ศ.) ว่าทำไมท่านจึงไม่แต่งงาน ท่านตอบว่าท่านยังไม่มีเงิน ซึ่งเพื่อนของนางได้ถามตอบไปว่า “แล้วถ้าหากมีสตรีสูงศักดิ์ที่สวยงามและร่ำรวยยินดีที่จะแต่งงานกับท่านล่ะ?” มุฮัมมัด(ศ.) จึงถามว่านางเป็นใคร

เมื่อเพื่อนคนนั้นบอกท่านว่าเป็นคอดีญะฮฺ มุฮัมมัด(ศ.)รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านเองก็เคารพนับถือคอดิญะฮฺมากเช่นกัน ท่านพร้อมกับลุงของท่านคืออบูฏอลิบและฮัมซะฮฺได้ไปหาลุงของคอดีญะฮฺ เพื่อขออนุญาตแต่งงานกับนาง ลุงของนางได้อนุญาตและหลังจากนั้นไม่นาน มุฮัมมัด(ศ.) และคอดีญะฮฺ จึงได้แต่งงานกัน

ชีวิตแต่งงานของพวกท่านทั้งสองมีความสุขและราบรื่น ทั้งมุฮัมมัด(ศ.) และคอดีญะฮฺ เหมาะสมกันมาก แต่ถึงอย่างไรช่วงชีวิตที่ใช้ร่วมกัน ก็ใช่ว่าจะปราศจากความโศกเศร้า พวกท่านมีลูกด้วยกันหกคน เป็นชายสองและหญิงสี่ บุตรชายคนแรกชื่อกอซิม เสียชีวิตเมื่ออายุเพิ่งจะครบสองขวบ บุตรคนสุดท้อง เป็นชายเช่นกัน ก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน มีเพียงบุตรสาวสี่คนคือ ซัยนับ, รุกอยยะฮฺ, อุมมุ กุลซุม และฟาฏิมะฮฺ เท่านั้นที่มีชีวิต

มุฮัมมัด(ศ.) ใช้ชีวิตอย่างสงบเรียบง่ายในฐานะพ่อค้าอยู่ในมักกะฮฺเป็นเวลาหลายปี ความฉลาดหลักแหลมของท่านเป็นประโยชน์ต่อผู้คนทั่วไป ครั้งหนึ่งเมื่อชาวกุเรชตัดสินใจที่จะบูรณะกะอฺบะฮฺขึ้นใหม่ แต่เป็นการยากสำหรับพวกเขาที่จะตัดสินใจ เพราะพวกเขาจะต้องทุบมันเสียก่อนที่จะสร้างขึ้นใหม่ และประชาชนก็กลัวว่าอัลลอฮฺจะทรงกริ้วที่พวกเขาทำลายสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ในที่สุด ผู้อาวุโสจากเผ่ากุเรชคนหนึ่งก็ตัดสินใจเป็นคนเริ่มต้น แล้วคนอื่นๆ จึงได้ทำตามเขา

พวกเขาทุบกันไปจนกระทั่งถึงฐานอันแรกที่ศาสดาอิบรอฮีม(อ.) ได้สร้างไว้ ทันทีที่พวกเขาเริ่มยกก้อนหินออกจากฐานนี้ เมืองมักกะฮฺก็สั่นไหวไปทั้งเมือง พวกเขาหวาดกลัวมาก จึงตัดสินใจที่จะปล่อยหินเหล่านั้นเอาไว้ที่เดินแล้วสร้างทับบนส่วนบนของมัน แต่ละเผ่าต่างก็นำหินมาเพื่อสร้างกะอฺบะฮฺ จนกระทั่งมาถึงบริเวณที่ต้องวางหินดำลงไป พวกเขาจึงเริ่มถกเถียงกันว่าใครควรจะเป็นผู้มีเกียรติในการนำหินดำไปวางไว้ในมุมหนึ่งของกะอฺบะฮฺ

พวกเขาเกือบจะถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน แต่โชคดีที่มีผู้หนึ่งเสนอทางออกให้ เขาแนะนำว่าพวกเขาทั้งหมดควรจะขอคำแนะนำจากบุคคลแรกที่เข้ามายังสถานที่สักการะแห่งนี้ พวกเขาเห็นด้วย และเมื่อมุฮัมมัด(ศ.) เป็นคนแรกที่เข้ามาพวกเขาทุกคนจึงพอใจ เพราะพวกเขาต่างก็ไว้วางใจในตัวท่าน

พวกเขาบอกท่านถึงสาเหตุที่พวกเขาโต้เถียงกัน และท่านได้ขอให้พวกเขานำผ้าคลุมผืนใหญ่มา แล้วกางลงบนพื้น ท่านได้วางหินดำไว้ตรงกลางของผืนผ้า จากนั้นท่านจึงให้ตัวแทนจากแต่ละเผ่าถือมุมของผ้าคลุมแล้วยกขึ้นพร้อมกัน พาไปยังตำแหน่งที่ต้องวางหินดำ เมื่อมาถึงตรงนั้นแล้ว ท่านเป็นคนนำหินดำจากผ้าคลุมไปใส่ในตำแหน่งนั้นด้วยตัวของท่านเอง

Kaaba

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ชาวกุเรชให้ความเคารพนับถือและไว้วางใจในตัวของมุฮัมมัด(ศ.) มากเพียงใด และด้วยความมีสติปัญญาและไหวพริบที่ดี ท่านจึงสามารถรักษาความสงบสุขไว้ได้

Source : www.tebyan.net