สถานภาพของศาสดามุฮัมหมัด (ศ.) ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
โองการต่างๆที่เกี่ยวกับสถานภาพของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) แบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆดังนี้คือ
1.โองการที่เกี่ยวกับเรื่องของการภักดี (ฏออัต) ต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.)
2.โองการที่เกี่ยวกับเรื่องของอำนาจการปกครอง (วิลายะห์) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ที่มีเหนือผู้ศรัทธาทั้งมวล
3.โองการที่เกี่ยวกับเรื่องของการตัดสินชี้ขาด (ฮุมก่ม) บทบัญญัติของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.)
4.โองการที่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ที่มีต่อสังคม
5.โองการที่เชิญชวนมนุษยชาติเข้าสู่ความมีศรัทธาต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นเงื่อนไขหนึ่งของหลักการศาสนา (ชะรีอะห์)
โองการที่เกี่ยวกับเรื่องของการภักดี (ฏออัต) ต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.)
โองการต่างๆ ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่เกี่ยวข้องกับการภักดี (ฏออัต) ต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) นั้น ได้ถูกประทานลงมาในหลายรูปแบบ
เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า ศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าทุกองค์นั้น ได้ถูกส่งมาเพื่อให้มนุษย์สวามิภักดิ์ และภักดี ดั่งในบท (ซูเราะฮ์) อัลนิซาอ์ โองการที่ 64 “และเรามิได้ส่งศาสดา คนใดมานอกจากเพื่อให้เขาได้รับการเชื่อฟัง”
บางโองการได้ชี้ให้เห็นว่า การภักดีต่อศาสดามุฮัมมัด (ศ.) คือ การยืนหยัดในการ ภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในบท (ซูเราะฮ์) อัลนิซาอ์ โองการที่ 80 “ผู้ใดเชื่อฟังร่อซูล แน่นอนเขาก็เชื่อฟังอัลลอฮฺแล้ว”
นอกเหนือจากนี้ ยังมีอีกหลายโองการที่เป็นคำสั่งโดยตรงที่ให้ทำการภักดี ต่อ อัลลอฮ์ และศาสดาของพระองค์ ในบท (ซูเราะฮ์) อัลนิซาอ์ โองการที่ 59
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังร่อซูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย”
และในอีกโองการ อยู่ในบทอัลอันฟาล โองการที่ 20 “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์เถิด และจงอย่าได้ผินหลังให้แก่เขา”
ในโองการแรกคำสั่งให้เชื่อฟัง และภักดี ซึ่งได้ถูกกล่าวซ้ำเพื่อจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการ เชื่อฟังและภักดีต่อท่านศาสดาศาสดามุฮัมมัด (ศ.) จึงมีคำสั่งเป็นเอกเทศซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ในโองการที่สอง
แต่คำสั่งการเชื่อฟังและเคารพภักดีต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ในครั้งที่สองนั้น เป็นคำสั่งให้เชื่อฟังและภักดี ที่มิได้ถูกกล่าวซ้ำแค่เพียงอย่างเดียว
แต่กลับพ่วงการเชื่อฟังภักดีไปพร้อมกับคำสั่งที่ให้เคารพภักดีต่อผู้เป็นเจ้าด้วยเช่นกัน เพื่อจะชี้ให้เห็นความต่อเนื่อง และสัมพันธ์ในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า และศาสดาของพระองค์ว่าอยู่ในระดับเดียวกัน
ในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) นั้น เป็นที่รู้และเข้าใจกันโดยทั่วไปในหมู่บรรดาผู้ศรัทธา ถึงขอบเขต และความจำเป็น แต่การเชื่อฟังเคารพภักดี ต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) นั้น
ในเบื้องต้นยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดในหมู่ผู้ศรัทธาเท่าไรนัก ดังนั้น พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน จึงได้ถูกประทานลงมา เพื่อให้ความกระจ่างชัดถึงขอบเขต และความจำเป็นในการเชื่อฟังและภักดีต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.)
และเนื่องด้วยความสำคัญในเรื่องการเชื่อฟัง และภักดีต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) โองการจำนวนหนึ่งจึงได้มีคำสั่งเป็นเอกเทศ ในการเคารพเชื่อฟังต่อศาสดามุฮัมมัด (ศ.) โดยมิได้กล่าวถึงการ เคารพเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์พ่วงต่อไปด้วย ในบทอัลนูร โองการที่ 56 “และพวกเจ้าจงดำรงละหมาด และจงบริจาคอัซซะกาฮ์ และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลร่อซูล เพื่อพวกเจ้าจะได้รับควาเมตตา”
ยิ่งไปกว่านั้น เราจะไม่พบโองการใดเลยใน พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ที่มีคำสั่งให้เคารพภักดีต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) แล้วจะไม่พ่วงด้วยคำสั่งการเคารพภักดีและเชื่อฟังศาสดามุฮัมมัด (ศ.)
ความหมายของการเคารพเชื่อฟัง (ฏออัต) ต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.)
การฏออัต หมายถึงการยอมรับ และปฏิบัติตามคำสั่งโดยปราศจากความสงสัยใดๆ เป็นการเชื่อฟังอย่างยอมศิโรราบ
และถ้าหากศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ไม่มีคำสั่งห้าม หรือคำสั่งใช้ใดๆโดยตรงจากท่านแล้ว และถ้าหากท่านเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดคำสั่งจาก อัลลอฮ์ (ซ.บ) มายังผู้ศรัทธาเพียงเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้คำสั่งจาก พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่สั่งให้เชื่อฟังต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ก็จะไม่เกิดความหมายที่แท้จริงของมัน
ในขณะเดี่ยวกันกลับมีโองการต่างๆที่บ่งชี้ให้เห็นว่า บรรดาศาสดานั้นมีคำสั่ง (อัมร์)โดยตรงของพวกท่านเหล่านั้น หรือโองการที่ท่านศาสดาเริ่มต้นด้วยการเชิญชวนให้มนุษยชาติ เคารพภักดี และมีความยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) และตามด้วยการเชิญชวนมนุษย์เข้าสู่การเคารพต่อศาสดามุฮัมมัด (ศ.)
และในหลายๆโองการที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า อัลลอฮ ได้มอบหมายกิจการทางศาสนาให้ท่านศาสดาโดยตรงในการชี้นำมนุษยชาติ มนุษยชาติมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามคำสั่งใช้ของท่านศาสดาเท่านั้น
ขอบเขตการเคารพเชื่อฟังต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.)
ในการเคารพเชื่อฟัง ต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) เราไม่พบโองการหรือรายงานใดๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าการเชื่อฟังและภักดี ต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) นั้นมีขอบเขตที่จำกัด
เช่นเดียวกับการเชื่อฟังภักดี ต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ที่เป็นการเชื่อฟังและภักดีแบบ “มุฏลัก” (การเคารพภักดีอย่างสมบูรณ์โดยดุษฎี) มนุษยชาติจึงมีหน้าที่เชื่อฟังและภักดี อย่างสมบูรณ์แบบต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) คำยืนยันที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ ทัศนะของนักอรรถาธิบายกุรอาน (มุฟัรสิร) ที่เกี่ยวกับโองการที่ว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังร่อซูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย”
นักอรรถธิบายทั้งหมด ต่างมีทัศนะว่าในโองการนี้เป็นคำสั่งให้เชื่อฟังและภักดีในลักษณะการเชื่อฟังแบบสมบูรณ์แบบ แม้นแต่ผู้ปกครองก็ต้อง เคารพภักดีอย่างสมบูรณ์โดยดุษฎี และบรรดานักอรรถาธิบายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเหล่านั้น ยังใช้โองการนี้พิสูจน์การเชื่อฟังและเคารพภักดีต่อบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ผู้บริสุทธิ์
ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) หลังจากการจากไปของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ซึ่งพวกเขาเหล่านั้น คือ “อุลิลอัมร์” ผู้มีอำนาจการปกครองมนุษยชาติ ภายหลังจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.)
โดย เชคมาลีกี ภักดี