ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ถือกำเนิดมาท่ามกลางสภาพสังคมที่มีแต่การกราบไหว้เทวรูป และการบูชาบุคคล กราบไหว้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่สิ่งที่ตนประดิษฐ์ขึ้นมา
สถานที่กำเนิดของท่านอยู่ที่เมืองบาบุ้ล ซึ่งนักบันทึกประวัติศาตร์ถือเป็นหนึ่งในเจ็ด สิ่งมหัศจรรย์ของโลก จากความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมของเมืองนี้ มีเรื่องราวบันทึกและกล่าวถึงไว้อย่างมากมาย
ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ถือกำเนิดในช่วงการปกครองของ นัมรูด บินกันอาน นัมรูด นอกจากจะกราบไหว้รูปปั้นแล้ว ยังเป็นผู้จำหน่ายเวรูปอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ว่า เป็นไปได้อย่างไร ที่คนๆ หนึ่งกราปไหว้เทวรูป และตัวเขาเองก็เป็นผู้จำหน่ายนั้นด้วย เรื่องราวลักษณะเดียวกันนี้ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานในบทอัลอะอ์รอฟ โองการที่ 125 ได้กล่าวถึงเรื่องราวของฟิรอูน แห่งอียิปต์ ขณะที่ศาสดามูซา (อ.) บุตรของศาสดาอิมรอน (อ.) ได้ทำการเขย่าบัลลังค์ของฟิรอูน ด้วยหลักแห่งเหตุและผล บรรดาบริวารของฟิรอูน ได้ร้องคัดค้านฟิรอูนว่า
“ท่านจะปล่อยให้มูซาและพวกของเขาบ่อนทำลายในแผ่นดิน และทอดทิ้งท่านให้อยู่กับพระเจ้าของท่าน กระนั้นหรือ?”
เป็นเรื่องที่ชัดเจนที่ ฟิรอูน อ้างตนว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้า และเป็นเจ้าของประโยคที่ว่า”เราคือพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าที่สูงส่ง” อัลกุรอาน บทอันนาซิอาด โองการที่ 24 และประโยคที่ว่า “ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า พวกเจ้าจะมีพระเจ้าอื่นใดนอกจากฉัน” อัลกุรอานบทอัลกอศ๊อศ โองการที่ 38
แต่ในขณะเดียวกันเขาเองก็กราบไหว้เทวรูป ทว่าในตรรกะของเหล่าผู้บูชาเทวรูป ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดกันแต่อย่างใด ที่บุคคลหนึ่งจะเป็นพระเจ้า และเป็นสิ่งที่ถูกกราบไหว้ ขณะเดียวกันก็กราบไหว้พระเจ้าที่ยิ่งใหญ่กว่า เพราะว่าเป้าหมายที่ว่า พระเจ้าและสิ่งที่ถูกกราบไหว้นั้น ไม่ได้หมายถึง ผู้สร้างจักรวาล แต่หมายถึงผู้ที่เปรียบตนเองว่ามีความสูงส่งกว่าบุคคลอื่น และถืออำนาจในการปกครองเหนือพวกเขา
ประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า ในอาณาจักรโรม บรรดาผู้อาวุโสในวงค์ตระกูลจะเป็นเที่เคารพกราบไหว้ของบรรดาญาติพี่น้อง ขณะเดียวกันตัวของเขาเองก็มีสิ่งที่กราบไหว้ของตนอยู่
กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่ให้การสนับสนุนนัมรูด คือพวกโหราจารย์ และนักเวทมนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ที่มีความรู้ในขณะนั้น การสวามิภักดิ์ของพวกเขาทำให้การบังคับกลุ่มอื่นๆ ที่ขาดความรู้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสวามิภักดิ์ของ อาชั้ร ญาติผู้ใกล้ชิดของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เอง
ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องของดวงดาว และเป็นชาวราชสำนักของนัมรูด เป็นตัวขัดขวางการเผยแพร่ของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากท่านจะต่อสู้กับแนวความคิดของสาธารณชนแล้ว ยังต้องเผชิญกับการต่อต้านของญาติใกล้ชิดอีก
นัมรูดใช้ชีวิตอยู่บนความคาดเดา และการพยากรณ์ เมื่อบรรดาโหราจารย์ได้แจ้งเตือนว่า รัฐบาลของท่านจะล่มสลายโดยน้ำมือของชายผู้หนึ่งที่ถือกำเนิดในบริเวณนี้ นัมรูดตกใจเป็นอย่างมาก และถามว่า เขาถือกำเนิดแล้วหรือยัง? พวกเขาตอบว่า ยังเขายังไม่ถือกำเนิดมา
นัมรูดจึงมีคำสั่งให้ผู้ชายและผู้หญิงแยกกันอยู่ เพื่อไม่ให้มีการจุติของศัตรูในค่ำคืนที่บรรดาโหราจารย์ได้คำนวน บรรดาทาสรับใช้ของนัมรูดที่ป่าเถื่อนได้รับมอบหมาย ให้ไปสังหารเด็กผู้ชายอย่างโหดเหี้ยม และให้นำทารกที่ถือกำเนิดไปในราชสำนัก เพื่อตรวจดูใบหน้า
ในคืนเดียวกันนั้นเอง ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้จุติในครรภ์มารดาของท่าน เช่นเดียวกับมารดาของศาสดามูซา (อ.) ขณะตั้งครรภ์ต้องอยุ่ในสภาวะหลบซ่อน หลังคลอดแล้วก็ต้องนำบุตรของตนไปไว้ในถ้ำนอกเมือง แล้วเดินเข้าออกทั้งกลางวันกลางคืนเพื่อเลี้ยงดูบุตรของท่าน เท่าที่เป็นไปได้ การทำเช่นนี้ดำเนินไประยะหนึ่ง จนนัมรูดมั่นใจว่าศัตรูของเขาถูกสังหารแล้วอย่างแน่นอน
ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) อาศัยอยู่ในถ้ำจนอายุครบ 13 ปี ทางเข้าออกปากถ้ำดูคับแคบไปสำหรับท่าน มารดาของท่านจึงนำกลับมาเข้ามาอยู่ในเมือง เมื่อบริวารของนัมรูดเห็นเด็กชายคนนี้ ซึ่งพวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน จึงสืบถามดู มารดาของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) จึงได้ตอบว่า “นี่คือบุตรชายของฉันที่ถือกำเนิดก่อนการทำนายของบรรดาโหราจารย์ (จากตัฟซีรบุรฮาน เล่ม 1 หน้าที่ 535)
เมื่อท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้ออกมาจากการใช้ชีวิตในถ้ำ ธรรมชาติดั้งเดิมในความเชื่อต่อพระเจ้าองค์เดียวของท่าน นั้น ยิ่งมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่อได้เห็นผืนแผ่นดิน ท้องฟ้า ดวงดาวระยิระยับ และต้นไม้ที่เขียวขจี เมื่อท่านได้พบเห็นกลุ่มชนหนึ่งกำลังกราบไหว้ดวงดาว อีกกลุ่มหนึ่งหนักกว่านั้น คือกำลังกราบไหว้เทวรูป ที่พวกเขาเป็นคนแกะสลักกันขึ้นมาเองกับมือของพวกเขา และพวกเขาเช่นกันที่นำเทวรูปเหล่านั้นออกมาจำหน่ายให้ประชาชนไปกราบไหว้
ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) จึงตัดสินใจที่จะต่อสู้ และต่อต้านกับแนวความคิดทั้งสามนี้ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงการต่อสู้ของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เอาไว้อย่างละเอียดในบทอัลอันบิยาอ์ โองการที่ 51-70