อิมามญะอฺฟัร ศอดิก(อ.) กล่าวว่า “ความยโสโอหังและการกดขี่เป็นบาปใหญ่”
ความหยิ่งทะนงเป็นบาปที่จะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอนดังที่อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ทรงตรัสไว้ในอัล-กุรอาน ซูเราะฮฺอัซ-ซุมัร โองการที่ 60 ความว่า
“…ดังนั้น ที่พำนักสำหรับบรรดาผู้หยิ่งยะโสนั้นมิใช่นรกดอกหรือ?” (อัล-กุรอาน 39/60)
อิมามอะลี(อ.) กล่าวในบทเทศนาหนึ่งของท่านว่า “ขอให้พวกท่านยึดถือเป็นบทเรียนจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงทำกับชัยฏอน นั่นคือ พระองค์ทรงลบล้างการกระทำและความพากเพียรอย่างมากมายของมันด้วยความถือดีเพียงชั่วขณะหนึ่ง ถึงแม้ว่าชัยฏอนจะได้เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺมาเป็นเวลาถึงหกพันปี แม้ว่าจะไม่รู้กันว่าเป็นการนับคำนวณในโลกนี้หรือโลกหน้า แล้วจะยังมีใครปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮฺได้อีกหรือ จากการกระทำความดื้อดึงแบบเดียวกันตามชัยฏอน? ไม่มีเลย อัลลอฮฺผู้ทรงประเสริฐยิ่ง จะไม่ปล่อยให้มนุษย์เข้าสู่สวรรค์ได้ถ้าหากเขากระทำสิ่งเดียวกับสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงแยกมะลาอิกัต(เทวทูต) ออกมาจากมัน พระบัญชาต่อสิ่งสรรพสิ่งทั้งหลายในชั้นฟ้าและแผ่นดินคือสิ่งเดียวกัน ไม่มีความเป็นมิตรระหว่างอัลลอฮฺกับสิ่งถูกสร้างใดๆ ของพระองค์ที่จะทำให้พระองค์ทรงอนุมัติให้กระทำสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาซึ่งพระองค์ได้บัญญัติเป็นข้อห้ามไว้สำหรับสากลโลก”
อิมามมุฮัมมัด บากิร(อ.) ได้เน้นย้ำว่า “ความทระนงและความสูงส่งนั้นเป็นสมบัติของอัลลอฮฺ ดังนั้น ใครที่กระทำความหยิ่งทะนงเท่ากับได้ทำสงครามกับอัลลอฮฺ”
คนหยิ่งทะนงคือคนที่กำลังทำสงครามกับอัลลอฮฺ(ซ.บ.) เพราะคนเช่นนั้นได้สูญเสียความสำนึกว่าแท้ที่จริงแล้วเขาคือสิ่งถูกสร้างที่ไม่มีความหมายอะไร ซึ่งการมีอยู่และสิ่งทั้งหลายที่เขาครอบครองก็เป็นได้เพราะความโปรดปรานของอัลลอฮฺ(ซ.บ.) ที่มีต่อเขาเท่านั้น เขาถือว่าตัวเองเป็นบุคคลพิเศษสุด ที่มีความสามารถในการควบคุมชีวิตตัวเองอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่มีพลังอำนาจใดมาก้าวก่าย ความยโสโอหังของเขาอาจไปถึงขั้นที่เขาสามารถอ้างความสูงส่งและยิ่งใหญ่ได้อย่างเปิดเผยเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับฟาห์โร
มนุษย์สามารถปรับปรุงตัวเองให้มีคุณสมบัติของความเมตตา ความกรุณา หรืออื่นๆ ที่เป็นคุณสมบัติของอัลลอฮฺได้เช่นกัน เพราะการพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้จะเป็นการช่วยให้เขามีความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ(ซ.บ.) มากยิ่งขึ้น แต่มนุษย์ ผู้เป็นสิ่งถูกสร้างของอัลลอฮฺ(ซ.บ.) ไม่มีสิทธิอันใดที่จะนำเอาความหยิ่งทะนงและอวดดีมาเป็นของเขาเอง
สัญลักษณ์ของความหยิ่งทะนง
1. เมื่อเราพูดถึงข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งกับคนผู้หนึ่งที่มีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกับเรา แต่เขายากที่จะยอมรับและไม่แสดงความพึงพอใจใดๆ แสดงว่าเขาเป็นคนหยิ่งทะนง
2. เมื่ออยู่ในงานชุมนุมทางสังคม เขาจะนั่งในที่นั่งที่ไม่สมเกียรติของเขาได้อย่างยากลำบาก และเขาไม่ชอบเดินอยู่ข้างหลัง เขาผู้นั้นเป็นคนหยิ่งทะนง
3. ถ้าเขาพบว่าเป็นการยากที่จะทักทายคนที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่าเขา เขาคือคนหยิ่งทะนง
4. ถ้ามันเป็นการยากลำบากสำหรับเขาในการรับคำเชิญของคนยากจนหรือนั่งร่วมกับคนขอทาน มันคือสัญลักษณ์ของความหยิ่งทะนง
5. ถ้าเขารู้สึกว่าเสียเกียรติในการซื้อของใช้ในครัวเรือนและถือมันกลับบ้าน เขากำลังหยิ่งทะนง แต่ถ้าคิดถึงสถานะทางสังคมและสถานการณ์แวดล้อมที่การกระทำเช่นนั้นจะทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกคนพูดลับหลังเขาก็ไม่ผิดอะไร
6. ถ้าเขารังเกียจการสวมเสื้อผ้าคุณภาพต่ำและอยากจะสวมใส่เสื้อผ้าดีๆ โดยคิดว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่แล้ว เท่ากับเขามีความหยิ่งทะนง ยกเว้นในกรณีที่กล่าวมาแล้ว เมื่อเสื้อผ้าคุณภาพต่ำนั้นอาจทำให้เขาถูกดูหมิ่น
7. ถ้าเขาไม่ชอบนั่งกับคนรับใช้หรือลูกศิษย์ นั่นคือสัญลักษณ์ของความหยิ่งทะนง
Source : www.rafed.net