ไม่ได้เจตนา?

119

เราเคยได้ยินคนอ้างเหตุผลต่อการทำบาปของพวกเขาด้วยคำว่า “เจตนา” บ่อยแค่ไหน? “ฉันเป็นคนดีนะ ฉันไม่ได้ตั้งใจทำให้เสียหาย” “อิสลามเป็นเรื่องของการตั้งเจตนา” “ฉันไม่ได้มีเจตนาร้าย ก็เลยไม่เป็นไร”

เราลืมความหมายของคำว่าอิสลาม หรือจุดมุ่งหมายสูงสุดของการมีชีวิตอยู่ของเราไปแล้วหรือ?

อิสลามหมายถึงการยอมรับ ยอมจำนน เรามีชีวิตอยู่เพื่อยอมจำนนต่อพระประสงค์ของอัลลอฮฺ ไม่ได้หมายถึงเพียงในสิ่งที่เราเลือกได้ แต่หมายถึงการยอมจำนนโดยสิ้นเชิงต่อพระบัญชาของพระองค์ในทุกด้านของชีวิต

แต่กระนั้น เราก็มักจะล้ำหน้าศาสนาอยู่บ่อยๆ และรู้สึกว่ามีความสามารถมากพอที่จะขีดเส้นของเราเอง เส้นที่ใช้จำแนกความบาป ซึ่งเป็นเส้นที่เราต้องไม่ข้ามไป อีกครั้งหนึ่งที่เส้นนี้ถูกขีดไว้ตรงที่ “ความเจตนา” ของเรา สำหรับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดีหรือไม่ดี แทนที่เราจะปฏิบัติ

ตามบทบัญญัติที่พระผู้สร้างได้วางเอาไว้ เรากลับปล่อยให้ตัวเราเองที่ไม่มีคุณสมบัติพอมาตัดสินว่าสิ่งใดยอมรับได้และสิ่งใดยอมรับไม่ได้

การหลีกเลี่ยงกฎของอิสลามโดยตัดสินการกระทำที่ผิดในลักษณะเช่นนี้ แทบจะกลายเป็นศิลปะอย่างหนึ่งไปเสียแล้ว

ปัจจุบันนี้มีมุสลิมจำนวนมากในทุกช่วงวัยที่เข้าร่วมในกิจการต่างๆ ที่ผิดหลักศาสนาด้วยเจตนา ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงเพลงหรือการเต้นรำ หรือการร่วยมรับประทานอาหารค่ำกับกลุ่มที่มีการดื่มสุรา พวกเขารู้สึกว่าตราบใดที่พวกเขาไม่ได้ดื่มและไม่ได้ลุกขึ้นไปเต้นเองนั้นมันก็ยังไม่เป็นไรอยู่ คนที่จับมือทักทายกับเพศตรงข้ามก็รู้สึกว่าพวกเขาทำได้เพราะพวกเขาไม่ได้มีเจตนาชั่วร้ายในการกระทำเช่นนั้น

และบางคนก็ถือว่าการซื้อสินค้าจากบริษัทห้างร้านที่สนับสนุนอิสราเอลเป็นสิ่งที่ทำกันได้ตามปกติ ตราบใดที่พวกเขามีความสนใจแต่เฉพาะตัวสินค้า ไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้าไป “เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง”

สิ่งที่จะเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในที่นี้ก็คือ ความรู้ด้าน ฟิกฮฺ (หลักนิติศาสตร์อิสลาม) และบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่หลักการนี้มีในศาสนาอิสลาม ขอให้พิจารณาดูตัวอย่างของภรรยาคนหนึ่งที่บริจาคทรัพย์สินและสมบัติทั้งหมดของสามีหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วให้แก่คนยากจน ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำลงไปทั้งหมดนั้นเธอทำด้วยเจตนาที่ดี แต่เธอต้องตกนรกอย่างแน่นอน เพราะเธอขาดความรู้เรื่องฟิกฮฺ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของสามีของเธอนั้น จะต้องถูกแบ่งให้แก่ทายาทของเขาตามกฎของการรับมรดก

การขาดความรู้ที่ถูกต้องทางด้านฟิกฮฺ(หลักนิติศาสตร์อิสลาม) หรือไม่ยึดมั่นกับหลักการของมันนั้น สามารถนำไปสู่ผลร้ายที่ตามมาในภายหลัง ถึงแม้ว่าการกระทำที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นด้วยเจตนาที่ดีแสนดีเพียงใดก็ตาม

อิมามมุฮัมมัด บากิร(อ.) กล่าวว่า “จงเรียนรู้หลักการของฮะรอม(สิ่งต้องห้าม) และฮะลาล(สิ่งอนุมัติ) มิฉะนั้นพวกท่านจะเป็นผู้โง่เขลา”

การขาดความรู้ในเรื่องกฎหมายอิสลามนั้นไม่ได้ทำให้เราถูกยกเว้นจากการปฏิบัติตามบทบัญญัติของมัน เราเรียนรู้ได้จากเรื่องของชายขายปลาคนหนึ่งในตลาดของกูฟะฮฺที่ไม่ใช้ตาชั่ง เมื่ออิมามอะลี(อ.) กำลังจะลงโทษเขาที่กระทำผิดกฎหมายอิสลาม (เพราะการขายปลาที่ถูกหลักการอิสลามต้องใช้ตาชั่งเท่านั้น) ชายผู้นั้นได้อ้อนวอนต่อท่านว่าเขาไม่รู้กฎหมายข้อนี้เลยและขอให้ยกโทษให้เขา แต่แทนที่ยอมรับคำแก้ตัวของชายขายปลาเนื่องจากเขาไม่รู้ ท่านอิมามกลับลงโทษเขาเป็นสองเท่า คือลงโทษสำหรับการฝ่าฝืนกฎหมาย และลงโทษสำหรับการไม่สนใจเรียนรู้เรื่องของกฎหมาย

อิมามอะลี(อ.) ยังได้กล่าวอีกว่า “แท้จริง การปฏิบัติศาสนาอย่างครบถ้วนนั้นต้องขึ้นอยู่กับการแสวงหาความรู้และปฏิบัติตาม(ความรู้นั้น) และสำนึกรู้ว่าการแสวงหาความรู้เป็นบทบัญญัติแก่ท่านมากกว่าการแสวงหาทรัพย์สิน” (อัล-กาฟีย์)

ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเราดำรงตนอยู่ในขอบเขตของอิสลาม เราจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพัฒนาความรู้ในเรื่องฟิกฮฺ(นิติศาสตร์อิสลาม) และพยายามนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา บางคนอาจรู้สึกว่าการยึดมั่นอย่างเข้มงวดต่อกฎเกณฑ์และหลักการของอิสลามมันเป็นเรื่องสุดโต่งและมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์เหล่านี้ก็ถูกกำหนดไว้แก่เราด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน ถ้าเรามีความศรัทธาในอัลลอฮฺอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ช้าเราก็จะได้รู้ข้อเท็จจริงที่ว่า การปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ล้วนเป็นประโยชน์แก่เราทั้งนั้น และการดื้อดึงขัดขืนก็จะนำอันตรายมาสู่เราเท่านั้นเอง ในทางที่เราอาจยังไม่รู้สำนึก

การปฏิบัติตัวของมุสลิมผู้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺนั้น จะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอิสลาม และเมื่อเขาได้ยอมจำนนต่อพระประสงค์ของอัลลอฮฺแล้ว เขาก็จะปฏิบัติตามนั้นอย่างแท้จริง เราเห็นตัวอย่างอันงดงามนี้ได้จากท่านหญิงซัยนับ(อ.) ในวันแห่งอาชูรอ(วันแห่งการล้อมสังหารอิมามฮุเซน(อ.) เมื่อกระโจมที่พักของอะฮฺลุลบัยตฺถูกเผา และฮิญาบของบรรดาสตรีถูกกระชากออกไป ท่านหญิงได้ไปหาอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) เพื่อถามว่า บรรดาสตรีควรจะอยู่ภายในกระโจมให้ไฟเผาเสีย หรือว่าจะออกไปข้างนอกโดยไม่มีผ้าคลุมศรีษะ

แม้แต่ในสถานการณ์แห่งความเป็นความตาย ท่านหญิงยังต้องทำให้แน่ใจก่อนว่าการกระทำใดที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอิสลาม แทนที่จะตั้งอยู่บนการตัดสินใจด้วย “เจตนาที่ดี” ของท่านเองเพื่อรักษาชีวิตไว้ การยอมจำนนอย่างปราศจากเงื่อนไขเช่นนั้น แสดงให้เห็นว่า เราไม่มีข้ออ้างใดๆ เลยจริงๆ ในการที่จะฝ่าฝืนบทบัญญัติที่ถูกวางไว้แก่เรา ไม่มีแม้แต่ข้ออ้างที่ว่า “ไม่เจตนาที่จะทำความชั่ว”

โดย : ฟาราห์ มัสอูด

แปล/เรียบเรียง : เญาฮาเราะห์

Source : www.tebyan.net