การเลือกคบเพื่อน

161

เราจะเลือกคบหากับเพื่อนอย่างไรตามคำสอนของอิสลาม?

เราควรจะเลือกเพื่อนที่มีความศรัทธาและปฏิบัติตัวอยู่ในหลักการศาสนาของเรา และมีความเอาใจอย่างยิ่งต่อสิ่งที่อัลลอฮฺ(ซ.บ.) และศาสดา(ศ.) สั่งใช้แก่เรา เราควรจะออกห่างจากผู้ที่มีกิริยามารยาทที่ไม่ดี และไม่ให้ความสนใจต่ออิสลาม หรือสิ่งที่จะสร้างความพึงพอพระทัยและไม่พึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ(ซ.บ.) เพราะเขาจะส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อเราอย่างแน่นอน ไม่ดีเลยที่เพื่อนฝูงจะชักจูงเราไปสู่การกระทำบาปและสร้างความไม่พอพระทัยให้แก่อัลลอฮฺ พื้นฐานการกระทำของผู้ที่ปฏิบัติตามหนทางที่ชั่วร้ายเป็นความผิดพลาด การกระทำของพวกเขาอยู่บนการหลงผิดและบิดเบือน

เพื่อนที่ดีคือเพื่อนที่ร่วมแบ่งปันทั้งความสุขและความโศกเศร้ากับเพื่อนของพวกเขา ถ้าเราแบ่งปันความรู้สึกกับคนที่ประพฤติชั่ว เราก็จะปฏิบัติตัวตามแบบอย่างและมาตรฐานของพวกเขา เราเองก็จะประพฤติชั่วเช่นเดียวกับพวกเขา แทนที่จะคบหากับเพื่อนที่หลงผิด เราควรคบหากับคนดีๆ ที่ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความดีงามและกิริยามารยาทที่เหมาะสม

อันตรายจากการมีเพื่อนไม่ดีไม่เพียงแต่ส่งผลต่อชีวิตทางโลกนี้ แต่เพื่อนเช่นนั้นอาจทำให้เราต้องเสียใจในวันแห่งการฟื้นคืนชีพด้วยเช่นกัน

อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ทรงตรัสไว้ว่า “และวันที่ผู้อธรรมจะกัดมือของเขาแล้วจะกล่าวว่า “โอ้! ถ้าฉันได้ยึดแนวทางศาสนทูตก็จะเป็นการดี โอ้ความวิบัติแก่ฉัน ! หากฉันไม่คบคนนั้นเป็นเพื่อน แน่นอน เขาได้ทำให้ฉันหลงผิดจากการตักเตือน หลังจากที่มันได้มันมายังฉัน…” (อัล-กุรอาน 25/27-29)

สิ่งที่เขาจะต้องเสียใจอย่างยิ่งสองประการในวันแห่งการพิพากษาก็คือ 1 การที่เขาไม่ได้ปฏิบัติตามหนทางการชี้นำของศาสดามุอัมมัด(ศ.) และ 2 การคบหาเป็นเพื่อนกับบุคคลที่หลงผิดออกจากทางอันเที่ยงธรรม

อิมามอะลี(อ.)ได้กล่าวไว้ว่า “ความปิติยินดีของโลกนี้และโลกหน้าขึ้นอยู่กับสองประการ ประการแรก การรักษาความลับ และประการที่สอง การมีเพื่อนดี ความลำบากยากแค้นของโลกนี้และโลกหน้าก็ขึ้นอยู่กับสองประการ ประการแรกคือการเปิดเผยความลับ และประการที่สอง การมีเพื่อนเลว”

อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ผู้ทรงเกรียงไกร ทรงตรัสไว้ในอัล-กุรอานว่า “ในวันนั้นบรรดามิตรสหายจะเป็นศัตรูกัน นอกจากบรรดาผู้ยำเกรง (อัล-กุรอาน 43/67)

และพวกจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน (อัล-กุรอาน 5/2)

อิมามอะลี(อ.) กล่าวว่า “เมื่อท่านรักใครก็ควรรักเขาแต่พอเพียง เพราะวันหนึ่งเขาอาจเป็นศัตรูของท่านก็ได้ และเมื่อท่านเกลียดใครก็ควรเกลียดเขาแต่พอเพียง เพราะวันหนึ่งเขาอาจเป็นเพื่อนของท่านก็ได้” และยังได้กล่าวอีกว่า “ถ้าท่านประสงค์ที่จะตัดขาดตัวเองจากเพื่อนคนหนึ่ง ก็จงเหลือโอกาสไว้ให้เขาบ้าง ซึ่งเขาอาจกลับมาเป็นเพื่อนกับท่านได้อีกในวันหนึ่ง”

อิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.) กล่าวว่า “ความลับที่ท่านต้องบอกกับเพื่อนนั้น เป็นเฉพาะความลับที่ไม่ทำให้ศัตรูทำอันตรายแก่ท่านได้ เพราะเพื่อนอาจเปลี่ยนเป็นศัตรูก็ได้”

Source : www.ezsoftech.com/stories/friends.in.islam.asp