ถึงแม้อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) จะพบกับสภาพที่เลวร้ายและยากลำบากอย่างหนักภายหลังการพลีชีพของอิมามฮุเซน(อ.) แต่ท่านไม่เพียงแต่สร้างความอับอายขายหน้าให้แก่ยะสีดด้วยการแสดงความกล้าหาญ ทระนงองอาจ และความหนักแน่นมั่นคงในการปกป้องศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าและสถานะอันสูงส่งของอะฮ์ลุลบัยต์เท่านั้น ท่านยังเปิดเผยถึงสัจธรรมของมันตลอกาลอีกด้วย
อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) ได้ให้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในการหลุดพ้นจากโลกที่กดขี่ ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวสะเทือนใจบนเส้นทางจากกูฟะฮ์สู่ซีเรีย และในราชสำนักของอิบนิซิยาดและยะสีด ซึ่งยังคงเป็นดวงประทีปแห่งแสงสว่างสำหรับประชาชาติผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายและโลกมุสลิม
ภารกิจที่สำคัญสี่ประการที่ถูกมอบหมายให้แก่อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) ได้แก่ ปกป้องดูแลบรรดาทายาทผู้สืบสกุลของบรรดาผู้ร่วมพลีชีพจากสมรภูมิกัรบะลา, ปกป้องเลือดของบรรดาชะฮีด(ผู้พลีชีพ), ต่อสู้เพื่อปกป้องเป้าหมายของอิมามฮุเซน(อ.) และนำพาประชาชาติที่ได้รับความทุกข์ยากให้หลุดพ้นจากความตกต่ำและเสียเกียรติด้วยการเพิ่มพูนจิตวิญญาณแห่งความฮึกเหิมเพื่อบรรลุสู่ความสำเร็จ ซึ่งนำพาไปสู่การปฏิวัติ และอิมามอะลี บิน ฮุเซน(อ.) ผู้นำที่แท้จริงของประชาชาติอิสลามได้เผชิญหน้าความมั่นคงกับสภาพที่เลวร้ายที่สุด และกองกำลังของทรราชย์ผู้กดขี่อย่างยะสีด
อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) และท่านหญิงซัยนับ(อ.) และบรรดาสตรี ต้องแบกรับความยากลำบากด้วยโซ่ตรวนและห่วงคล้องคอ ข้อมือ ข้อเท้าที่หนาหนัก แต่ยังดำเนินภารกิจของฮุเซนต่อไปด้วยการบอกเล่าเรื่องรายแห่งกัรบะลาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกจุดและทุกมุมที่มีโอกาส
อัลลอฮ์คือเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ และดุอา(บทวิงวอน) ถือว่าเป็นการเคารพภักดีที่ดีเลิศที่สุด ดุอาคืออาวุธของผู้ศรัทธา คือเสาของศาสนา และเป็นเครื่องให้ความสว่างไสวแก่ท้องฟ้าและแผ่นดิน ในขณะที่การพลีชีพถือเป็นช่องทางสุดท้ายในการบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดนั้น ในคัมภีร์กุรอานได้กล่าวถึงเป้าหมายที่ประเสริฐที่สุดสามอย่างนั่นคือ ความศรัทธา, การอพยพ และการญิฮาด(การต่อสู้ในหนทางของศาสนา) ผู้ที่มีความศรัทธาอย่างสมบูรณ์ในศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า เขาได้ละทิ้งมาตุภูมิของเขาเพื่อปกป้องเป้าหมายอันสูงสุดและศาสนาของเขา และทำการญิฮาดกับผู้ปกครองที่กดขี่เพื่อความปลอดภัยของมนุษยชาติและเพิ่มเกียรติยศให้แก่สังคม นั่นจึงทำให้การญิฮาดถูกถือว่าเป็นประตูบานหนึ่งสู่สวรรค์ ที่อัลลอฮ์ได้สร้างขึ้นเพื่อบุคคลที่พระองค์ทรงเลือก
อิมามฮุเซน(อ.) ด้วยการพลีชีพที่ท้องทุ่งกัรบะลาร่วมกับสมาชิกครอบครัวและสาวกผู้ใกล้ชิดของท่านรวม 72 คน เพื่อปกป้องเป้าหมายสูงสุดเหล่านี้ และเพื่อส่งเสริมหลักศาสนา หลักมนุษยธรรมให้แก่มนุษย์ เพื่อเป็นบทเรียนแก่ชนรุ่นหลังว่า ผู้ใดก็ตามที่แสวงหาความสูงสุดของศาสนา พวกเขาจะไม่หวาดกลัวต่อความตาย และถือว่าความตายคือชีวิตนิรันดร์
หลังจากการพลีชีพของอิมามฮุเซน(อ.) บุตรชายที่รักของท่านคืออิมามอะลี บิน ฮุเซน ซัยนุลอาบิดีน(อ.) ได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่ง อิบนฺ เญาซี ได้เขียนเกี่ยวกับฉายานามนี้ของท่านอิมาม(อ.) ในหนังสือ “ตัสกิรอตุล คอวาส” ว่า “ชื่อซัยนุลอาบิดีนนี้ ถูกมอบให้โดยท่านศาสดา(ศ.)” เขายังได้กล่าวสรุปใจความสำคัญของคำพูดหนึ่งของอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) ว่า “โอ้ประชาชน ผู้ที่ยังไม่รู้จักฉัน ฉันจะขอแนะนำตัวเองว่า ฉันคือบุตรชายของฮุเซน บิน อะลี บิน อบีฏอลิบ(อ.) ผู้ซึ่งเกียรติยศของเขาถูกเหยียบย่ำ และผู้ที่อะฮ์ลุลบัยต์ของเขาถูกกักขัง สิทธิของพวกเขาถูกแย่งชิง แต่ฉันไม่รู้สึกว่าตัวฉันอ่อนแอ ไร้เรี่ยวแรงและสิ้นหวังเนื่องด้วยเหตุผลเหล่านี้ แต่ฉันกลับรู้สึกภาคภูมิใจที่บิดาของฉันได้มอบชีวิตของท่านไปเพื่อความสูงส่งของสัจธรรม และเขาถูกสังหารอย่างอยุติธรรม”
Source : tebyan.net