นี่คือบันทึกเหตุการณ์วันต่อวัน ตั้งแต่วันที่อิมามฮุเซน(อ.) ไปถึงกัรบะลาจนกระทั่งเวลาแห่งการเชือดพลีในวันอาชูรอ เริ่มจากวันที่ 1 มุฮัรรอม ฮ.ศ.61 (1 ตุลาคม ค.ศ.680) จากการค้นคว้าและเรียบเรียงโดย ซัยยิด ม.ร. ชับบาร์
วันที่ 1 : อิมามฮุเซน(อ.) และคณะผู้ติดตามของท่านถูก ฮูร แม่ทัพของคอลิฟะฮ์ และทหารจากอัต-ตามีนี 1,000 คน ขัดขวางไม่ให้ไปถึงกูฟะฮ์ และถูกบีบให้ต้องตั้งกระโจมที่พักในทะเลทรายที่กัรบะลา ห่างจากกูฟะฮ์ 75 กิโลเมตร ที่สถานที่แห่งชะตากรรมนี้เองที่ความทุกข์ทรมานของอิมามฮุเซน(อ.) และคณะผู้ติดตามของท่านได้เริ่มต้นขึ้น
วันที่ 2 : อิมามฮุเซน(อ.) พูดกับคณะผู้ติดตามของที่กระโจมที่พัก และรับรองกับพวกเขาในเรื่องความดีงามและความถูกต้องของพวกเขา ทุกคนได้ให้คำมั่นมอบความจงรักภักดีต่อท่าน หลังจากนั้น ด้วยความรู้ล่วงหน้าถึงความตายของท่าน อิมามฮุเซน(อ.) ได้ซื้อที่ดินประมาณสี่ตารางไมล์เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับหลุมฝังศพของท่านและครอบครัวของท่าน จากคนท้องถิ่นในบริเวณนั้น
วันที่ 3 : กำลังทหารสี่เสริมทัพอีกสี่พันคน ภายใต้การบังคับบัญชาของอุมัร อิบนฺ ซะอัด มาถึงพร้อมคำสั่งจากอุบัยดุลลอฮ์ อิบนฺ ซิยาด ว่า พวกเขาต้องขัดขวางอิมามฮุเซน(อ.) ไม่ให้ไปไหนจนกว่าท่านจะลงนามให้สัตยาบัณกับคอลิฟะฮ์ยะสีด ทหารของอิบนฺ ซะอัด เตรียมพร้อมสำหรับการทำศึก และโอบล้อมกลุ่มของอิมามฮุเซน(อ.) ตัดขาดพวกท่านจากสายน้ำที่เป็นแหล่งน้ำเพียงแห่งเดียวของพวกท่าน
วันที่ 4 : อิมามฮุเซน(อ.) เริ่มเจรจากับอิบนฺ ซะอัด โดยได้เน้นว่าท่านไม่ปรารถนาที่จะเริ่มการนองเลือด และขอให้พวกเขายอมให้ท่านถอยกลับไปยังอาหรับ แต่อิบนฺ ซะอัดปฏิเสธไม่ยอมผ่อนปรน ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภายในกระโจมที่พักของอิมามฮุเซน(อ.) เริ่มคับขันมากขึ้นทุกขณะเนื่องจากขาดแคลนน้ำและเสบียงอาหาร
วันที่ 5 : ขนาดของกองทัพที่เผชิญหน้ากับกลุ่มของอิมามฮุเซน(อ.) และคณะ เพิ่มมากขึ้นเมื่อกำลังทหารอีกหลายกองได้มาถึงและรวมกลุ่มกันเข้า ตรงริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส(ฟุรอต)
วันที่ 6 : การขาดแคลนน้ำไปถึงระดับที่สิ้นหวัง อิมามฮุเซน(อ.) ใช้เสากระโจมขุดบ่อน้ำ แต่น้ำบ่อน้อยนี้ก็ไม่เพียงพอเมื่อมันแห้งเหือดไป อิบนฺ ซิยาด รับรู้ถึงความเจ็บปวดทรมานของพวกท่าน จึงได้ส่งกำลังทหาร 500 คน เข้าเสริมแนวล้อมรอบแม่น้ำยูเฟรติส
วันที่ 7 : ด้วยความห่วงใยต่อสตรีและเด็กๆ อิมามฮุเซน(อ.) ได้ขอให้ท่านอับบาส น้องชายของท่าน บุกผ่านแนวกำลังทหารของคอลิฟะฮ์ไปนำน้ำจากแม่น้ำมากลางดึก แม้พวกทหารจะรู้ตัวและมีการต่อสู้กัน แต่ท่านอับบาสก็นำน้ำอันมีค่ากลับมายังกระโจมที่พักได้ จนท่านได้รับสมญานามว่า “ซักกอ” หรือ ผู้นำน้ำมา น้ำนั้นคือของขวัญจากอัลลอฮ์ แต่มันก็น้อยนิดสำหรับการดับกระหายของทุกคนในกระโจมที่พัก
วันที่ 8 : ด้วยความหมดสิ้นหนทาง อิมามฮุเซน(อ.) ได้ส่งสาส์นไปยังอิบนฺ สะอัด เพื่อขอพบกัน ท่านได้ถามเรื่องความจงรักภักดีต่อยะสีดของอิบนิ สะอัด โดยถามว่า “ท่านไม่กลัวอัลลอฮ์ในวันแห่งการพิพากษาหรือ? ท่านรู้ไหมว่าฉันคือใคร” ความภักดีของอิบนฺ สะอัดไม่สั่นคลอน เขาคิดที่จะพยายามทำตัวเป็นผู้เจรจาสงบศึกระหว่างอิมามฮุเซน(อ.) กับยะสีด แต่ผู้สนับสนุนเขาได้รั้งเอาไว้ และกระตุ้นให้เขาอย่าประนีประนอม
วันที่ 9 : ในวันที่ร้อนระอุและยาวนั้นท่ามกลางทะเลทรายที่ระงมไปด้วยเสียงร้องขอน้ำจากเด็กๆ กระโจมที่พักของอิมามฮุเซน(อ.) เตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีที่พวกท่านรู้ว่ากำลังจะมาถึงและไม่มีกำลังจะหยุดมันได้ อิมามฮุเซน(อ.) ได้เรียกคณะของท่านมารวมตัวกัน และกล่าวกับพวกเขาว่า “ใครก็ตามที่ยังอยู่กับฉันจะต้องถูกสังหารในวันพรุ่งนี้ ดังนั้น ขอให้ใคร่ครวญถึงโอกาสนี้ที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้ และหาประโยชน์จากความมืดหลบออกไปและกลับบ้านของพวกท่านเถิด” หลังจากนั้น ท่านจึงได้ดับไฟทั้งหมดที่ส่องสว่างอยู่ในกระโจมที่พัก เพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ต้องการจะไปได้หลบหนีออกไปได้ คณะผู้ติดตามของท่านร่ำไห้และร้องตอบว่า “โอ้นายท่าน ทำเช่นนั้นแล้วเราจะไม่ละอายต่ออัลลอฮ์หรือ… ถ้าเราทอดทิ้งท่านไป ขอให้สัตว์ร้ายในป่าฉีกร่างเราเป็นชิ้นๆ เถิด”
อิมามฮุเซน(อ.) จึงส่งสาส์นฉบับสุดท้ายไปยังอิบนฺ สะอัด ขอให้ยืดเวลาแก่พวกท่านเป็นคืนสุดท้าย เพื่อให้พวกท่านได้นมาซและอ่านคัมภีร์อัล-กุรอาน อิบนฺ สะอัด ตกลงอย่างไม่สู้เต็มใจ และอิมามฮุเซน(อ.) ได้เรียกทุกคนมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อกล่าวเทศนาเป็นครั้งสุดท้าย อีกครั้งหนึ่งที่บรรดาคณะผู้ติดตามของท่านยืนยันความจงรักภักดีและปฏิญาณว่าจะตายเคียงข้างนายของพวกเขา พลังความศรัทธาของพวกเขามากถึงเพียงนั้น จนทำให้เมื่อศัตรูมองเห็นพวกท่านทำนมาซ ทหาร 32 คน ได้ย้ายข้างแล้วมาร่วมอยู่กับท่าน รวมทั้งฮูร ผู้บัญชาการกองทัพทหารกองแรกที่คุมและขวางเส้นทางของอิมามฮุเซน(อ.) จากกูฟะฮ์ เขาได้กลายเป็นชะฮีดคนแรกที่สละชีวิต
วันที่ 10 : “อาชูรอ” วันศุกร์ที่ 10 มุฮัรรอม ฮ.ศ.61 (10 ตุลาคม ค.ศ.680) ในวันที่จะเป็นวันสุดท้ายของท่านนี้ อิมามฮุเซน(อ.) และผู้ติดตามของท่านจำนวนหนึ่งได้ขอร้องต่อกองทหารของอิบนฺ สะอัด เป็นครั้งสุดท้าย ที่จะไม่หลั่งเลือดของครอบครัวของท่านศาสดา(ศ.) ด้วยการแสดงให้ดูเป็นตัวอย่าง อิบนฺ สะอัด ได้ยิงธนูดอกแรกเข้าไปยังกระโจมหลังเล็กที่น่าเวทนา ถึงแม้จะขาดแคลนจำนวนคน แต่การต่อสู้ของสาวกผู้ติดตามของอิมามฮุเซน(อ.) ต่อสู้อย่างดุเดือดไม่ยอมลดละ พวกเขาต่อสู้และตายไปทีละคน รวมทั้งลูกชายของอิมามฮุเซน(อ.) ที่อายุเพียง 11 และ 13 ปี
อิมามฮุเซน(อ.) ยังร้องขอความเมตตาจากทัพศัตรู ท่านได้นำลูกชายที่ยังเป็นทารกวัย 6 เดือนของท่านออกมาเพื่อร้องขอน้ำ ฝ่ายศัตรูได้ตอบรับคำขอของท่านด้วยการยิงธนูอาบยาพิษที่แหลมคมเข้าเสียบลำคอของทารกผู้นั้นจนเสียชีวิตในทันที
ในที่สุด อิมามฮุเซน(อ.) ที่เหลืออยู่เพียงคนเดียว ก็ต้องล้มลงในสนามรบ เคียงข้างสหายที่ตายไปก่อนหน้าท่าน ด้วยบาดแผลเต็มร่างกาย อิมามฮุเซน(อ.) ถูกตัดศีรษะ และร่างถูกม้าเหยียบย่ำจนแหลกเหลวเพื่อส่งเป็นของที่ระลึกให้แก่ยะสีด สหายผู้ติดตามของท่านก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ร่างกายของพวกเขาถูกม้าของศัตรูเหยียบย่ำและทิ้งไว้ไม่ให้ฝังอย่างมุสลิม
จากนั้นทหารของยะสีดก็ได้เข้าปล้นขโมยในกระโจมที่พัก จับตัวสตรีและเด็กเป็นนักโทษ รวมทั้ง อิมามอะลี ซัยนุลอาบิดีน(อ.) ลูกชายผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวของอิมามฮุเซน(อ.)
Source : moralsandethics.wordpress.com