5 ชะอ์บาน วันประสูติอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)

180

ท่านอิมามอะลี ซัยนุลอาบิดีน(อ.) คืออิมามท่านที่สี่ ฉายานามของท่านคืออะบู มุฮัมมัด และมีสมญานามที่โด่งดังว่า “ซัยนุลอาบิดีน”

บิดาของท่านคืออิมามฮุเซน(อ.) หลายชายของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) และมารดาของท่านคือสตรีผู้สูงศักดิ์ ท่านหญิงชะฮ์รอ บานู ธิดาของกษัตริย์ยัซเกอร์ด ผู้ปกครองอาณาจักรเปอร์เซียคนสุดท้ายก่อนการมาของอิสลาม

ในช่วงสองปีแรกแห่งวัยทารกของอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) ท่านเติบโตขึ้นมาจากตักของปู่ของท่าน คืออิมามอะลี อิบนฺ อบูฏอลิบ(อ.) และหลังจากนั้นอีกสิบสองปี ท่านได้อยู่ในความอุปถัมภ์อันประเสริฐจากลุงของท่าน คืออิมามฮะซัน อิบนฺ อะลี(อ.)

ในปี ฮ.ศ.61 ท่านอยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่กัรบะลาอ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งโศกนาฏกรรมของการสังหารหมู่ ท่านต้องสูญเสียบิดาของท่าน บรรดาลุงและอา, พี่ชายน้องชาย, ลูกพี่ลูกน้อง และมิตรสหายผู้เคร่งครัดของบิดาของท่าน และท่านต้องทนทุกข์กับการถูกจับกุมเป็นเชลยในอุ้งมือกองทัพที่ชั่วช้าของยะซีด

เป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺที่ในวันแห่งอาชูรอ เมื่ออิมามฮุเซน(อ.) เข้ามาในกระโจมของท่านเพื่อกล่าวคำอำลาต่อครอบครัว ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) นอนป่วยหนักจนแทบไม่รู้สึกตัว ท่านจึงรอดจากการสังหารหมู่ที่กัรบะลาอ์ในวันนั้นมาได้

ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) มีชีวิตอยู่อีกประมาณ 35 ปี หลังจากเหตุการณ์นั้น และในช่วงชีวิตที่เหลือทั้งหมดของท่าน ผ่านไปด้วยการนมาซและวิงวอนขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ และรำลึกถึงการพลีชีพของบิดาของท่าน

ด้วยการดำรงนมาซและวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺเป็นชีวิตจิตใจ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสุญูด(กราบสักการะต่ออัลลอฮฺ) ทำให้อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) ได้รับการเรียกขานอย่างแพร่หลายว่า “ซัจญาด” หรือผู้ดำรงการกราบกราน

อัซ-ซุฮ์ริล, อัล-วากิด และอิบนฺ อุยัยนะฮ์ กล่าวว่า “พวกเขาไม่เคยพบใครที่มีความเคร่งครัดในศาสนา และมีศรัทธาอันแรงกล้าเทียบเท่ากับอิมาม (อ) เลยสักคน ท่านเป็นนอบน้อมต่ออัลลอฮฺอย่างยิ่ง เมื่อใดก็ตามที่ท่านนั่งลงเพื่อทำวุฎูอฺ(เพื่อการเข้าเฝ้าพระองค์) สีหน้าของท่านจะเปลี่ยนไป และเมื่อท่านยืนปฏิบัตินมาซ ร่างกายของท่านจะสั่นสะท้าน เมื่อมีผู้ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ท่านตอบว่า “ท่านไม่รู้หรือว่าฉันยืนนมาซอยู่ต่อหน้าเบื้องพระพักตร์ของผู้ใด และฉันกำลังสนทนาอยู่กับผู้ใด?”

แม้แต่ในวันที่น่าสะพรึงกลัวแห่งอาชูรอ เมื่อกองทัพของยะซีดได้เข่นฆ่าสังหารหมู่บิดาของท่าน รวมถึงญาติสนิทและมิตรสหายทั้งหมดของท่าน และกระโจมที่พักของสตรีและเด็กกำลังถูกจุดไฟเผา อิมามผู้ประเสริฐท่านนี้ ยังใช้เวลาทั้งหมดไปกับการวิงวอนขอพรต่อพระผู้อภิบาลของท่าน

ช่วงเวลาหลังจากนั้น เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับครอบครัวของท่านศาสดาที่จะใช้ชีวิตอยู่ในนครมะดีนะฮ์ อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.ดำรงตำแหน่งอิมามแห่งยุคสมัย และเป็นหน้าที่ของท่านในการเผยแพร่ทางนำแก่ประชาชน แต่ท่านจะทำได้อย่างไรในเมื่อการพูดถึงอะฮฺลุลบัยตฺในทางชื่นชมแม้เพียงคำเดียว ก็อาจจะหมายถึงความตายได้ ไม่มีใครกล้าพูดว่าเขาเป็นผู้ปฏิบัติตามครอบครัวของท่านศาสดา ท่านอิมาม(อ.) รอดชีวิตมาได้ด้วยแรงใจสนับสนุน และความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า

ท่านอิมาม (อ) มักจะไปที่มัสยิดของท่านศาสดา และบ่อยครั้งที่ท่านไปที่นั่นเพื่อปฏิบัตินมาซตลอดทั้งคืน มันเป็นการปฏิบัตินมาซพิเศษในลักษณะของการขอดุอาอ์ (วิงวอนขอพร) ที่มีความหมายพิเศษกว่าการนมาซธรรมดา บทดุอาอ์นี้ได้รับการท่องจำรำลึกโดยบรรดาสาวกของท่าน และจดบันทึกโดยบุตรชายทั้งสองของท่านคือ มุฮัมมัด และเซด

ท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) ได้กลายมาเป็นอิมามท่านที่ 5 (อ.) ภายหลังการพลีชีพของท่าน ในขณะที่เซดลุกขึ้นต่อต้านผู้ปกครองในสมัยนั้น และพลีชีพที่กูฟะฮ์

บรรดาสาวกของท่านได้รวบรวมบทดุอาอ์ของท่านเป็นรูปเล่มโดยใช้ชื่อว่า “อัศ-ศอฮีฟะฮ์ ซัจญาดิยะฮ์”

ตลอดชีวิตของอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) ท่านได้ช่วยเหลือประชาชนในเมืองมะดีนะฮ์ ท่านจะแบกกระสอบที่เต็มไปด้วยขนมปัง และแป้งสาลีเพื่อนำไปวางไว้หน้าบ้านของประชาชนผู้ยากจน และหิวโหยในเวลากลางคืน ไม่เคยมีใครรู้ว่าผู้ใจบุญที่นำกระสอบอาหารมาวางไว้คืนแล้วคืนเล่านี้เป็นใคร จนกระทั่งเมื่อท่านเสียชีวิตประชาชนเหล่านั้นจึงได้รู้ความจริง ว่าคือท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ)

ในครั้งหนึ่ง ฮิชาม อิบนฺ อับดุลมาลิก รัชทายาทของกาหลิบ เดินทางมายังนครมักกะฮ์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ และเขาได้พบว่ามีผู้คนจำนวนมากจนเขาไม่สามารถเข้าไปถึงหินดำที่มุมของกะอฺบะฮ์ได้เลย ประชาชนไม่มีใครจำฮิชามได้ เขาจึงนั่งอยู่บนที่สูงเพื่อรอคอยให้ฝูงชนนั้นเคลื่อนออกไป เพื่อเขาจะได้เข้าไปจุมพิตหินดำ

ในขณะที่เขารออยู่นั้น เขาเห็นชายคนหนึ่งมาเดินเข้ามา และเขาก็เห็นว่าฝูงชนมากมายกำลังหลีกทางให้แก่ชายคนนั้น จนเขาสามารถเข้าไปถึงหินดำและจุมพิตหินดำได้ จากนั้นจึงหันกลับไปทางเดิมของเขา เหตุการณ์นี้สร้างความตกตะลึงประหลาดใจให้แก่ฮิชาม บุตรของกาหลิบเป็นอย่างมาก เขาต้องการจะรู้ว่าชายผู้นั้นเป็นใคร

ฟะรอซดัก กวีผู้มีชื่อเสียงยืนอยู่ที่นั่นด้วย เขาได้ประพันธ์กวีขึ้นมาเพื่อยกย่องท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) และแนะนำให้รัชทายาทของกาหลิบรู้จักท่านอิมาม เขากล่าวกวีมีใจความว่า “เขาคือผู้ที่มักกะฮ์ทั้งเมืองรู้จักเขา หินทุกก้อนในกะอฺบะฮ์รู้จักเขา เขาคือหลานชายของฟาฏิมะฮ์และอะลี เขาคือบุตรของหลานชายของท่านศาสดา” ด้วยความอิจฉาริษยาของฮิชามผู้เย่อหยิ่ง เขาได้สั่งจำคุกกวีผู้นั้นจนกระทั่งหลายปีต่อมาเขาเสียชีวิตในคุก

ประชาชนหลายคนกล่าวว่า ท่านอิมาม(อ.) ใช้ชีวิตของท่านหลังเหตุการณ์ที่กัรบะลาไปกับการไว้อาลัย และร้องไห้ให้กับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของท่าน เมื่อมีผู้ถามว่าทำไมท่านจึงร้องไห้มากมายเช่นนี้ ในเมื่อการพลีชีพเพื่อศาสนาเป็นการสืบทอดของอะฮ์ลุลบัยต์อยู่แล้ว ท่านตอบว่า “แท้จริงแล้ว ฉันไม่ได้ร้องไห้ให้กับการสังหารครอบครัวของฉัน แต่ฉันร้องไห้ให้กับความอัปยศที่ทุกคนในครอบครัวของเราต้องประสบระหว่างการเดินทางไปดามัสกัสซึ่งมันเกินกว่าจะพรรณนาได้ ฉันร้องไห้ให้กับการเสื่อมเสียเกียรติของสตรีและเด็กๆ”

ประชาชนที่ได้ยินเรื่องราวเหล่านั้นก็จะพลอยร้องไห้ไปด้วย เมื่อเรื่องราวได้แพร่สะพัดออกไป นี่จึงเป็นหนทางในการบอกเล่าเรื่องราวแก่ประชาชนถึงแม้ว่าประชาชนจะไม่ต้องการรับรู้ ข่าวสารนี้เข้าไปถึงหัวใจของประชาชน และข่าวสารนี้ยังคงอยู่แม้จะผ่านไป 1,400 ปีแล้วก็ตาม

การใช้ชีวิตอย่างสงบ และเรียบง่ายของท่านอิมาม (อ) ไม่เป็นที่พอใจของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ที่โหดเหี้ยม พวกเขารู้สึกว่าท่านอิมาม(อ.) กำลังประสบความสำเร็จในการเผยแพร่สาส์นของอิมามฮุเซน(อ. วาลิด อิบนฺ อับดุลมาลิก ราชวงศ์แห่งซีเรีย จึงได้ลอบวางยาพิษท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) ในเวลาต่อมา

อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) ถูกทำชะฮาดัต (ถูกสังหารในหนทางของพระเจ้า) ที่นครมะดีนะฮ์เมื่อวันที่ 25 มุฮัรรอม ฮ.ศ.95 บุตรชายคนโตของท่านคือ อิมามมุฮัมมัด บากิร(อ.) ได้ฝังท่านที่สุสานญันนะตุล บะกีอ์ เคียงข้างท่านอิมามฮะซัน(อ.) ลุงของท่าน

Source : www.tebyan.net