มีรายงานไม่ตรงกันในเรื่องวันประสูติของท่านหญิงซัยนับ(อ.) บางรายงานกล่าวว่า ท่านประสูติที่เมืองมะดีนะฮฺ เมื่อวันที่ 5 ญะมาดิลเอาวัล และบางรายงานก็ว่าวันที่ 1 ชะอฺบาน ปีฮ.ศ.6
ห้าปีหลังจากชาวมุสลิมติดตามท่านศาสดา(ศ.) และครอบครัวของท่าน อพยพมายังเมืองมะดีนะฮฺ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ.) บุตรสาวของท่านศาสดา ก็ได้ให้กำเนิดทารกเพศหญิงคนหนึ่ง
เมื่ออิมามอะลี(อ.) ได้เห็นบุตรสาวของท่านเป็นครั้งแรกนั้น อิมามฮุเซน(อ.) ซึ่งตอนนั้นอายุสามขวบ ก็อยู่กับท่านด้วย อิมามฮุเซน(อ.) ได้ร้องบอกด้วยความดีใจว่า “โอ้ พ่อจ๋า อัลลอฮฺทรงประทานน้องสาวให้ฉันแล้ว”
เมื่อได้ยินเช่นนั้น อิมามอะลี(อ.) ก็เริ่มร้องไห้ และเมื่ออิมามฮุเซน(อ.) ถามว่าท่านร้องไห้ทำไม บิดาของท่านตอบเพียงว่า ท่านจะรู้ในไม่ช้า
ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ.) และอิมามอะลี(อ.) ไม่ได้ตั้งชื่อให้แก่ทารกน้อยผู้นี้จนผ่านไปหลายวัน พวกท่านรอคอยท่านศาสดา(ศ.) กลับจากการเดินทาง เพื่อให้ท่านเป็นผู้ตั้งชื่อให้
ในที่สุด เมื่อทารกน้อยถูกส่งมอบให้แก่ท่านศาสดา(ศ.) ท่านได้วางนางไว้บนตักและจุมพิตนาง เทวทูตญิบรีลได้มาหาท่าน และแจ้งชื่อของนางให้ท่านทราบ แล้วญิบรีลก็เริ่มร้องไห้
ท่านศาสดา(ศ.) ถามญิบรีลว่าร้องไห้ทำไม เขาตอบว่า “โอ้ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตของเด็กหญิงผู้นี้ นางจะอยู่ในวังวนของความทุกข์ยากและบททดสอบในโลกนี้ แรกสุด นางจะร้องไห้ต่อการจากไปของท่าน(จากโลกนี้) หลังจากนั้น นางจะคร่ำครวญต่อการจากไปของมารดา ต่อมาคือบิดาของนาง และต่อมาคือพี่ชายของนางคือฮะซัน หลังจากนั้นแล้ว นางจะต้องเผชิญกับบททดสอบบนผืนแผ่นดินกัรบะลา และความยากลำบากบนทะเลทรายอันอ้างว้าง ซึ่งส่งผลให้เส้นผมของนางเปลี่ยนเป็นสีเทา และหลังจะโค้งงอ”
เมื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้รับรู้ถึงคำทำนายนี้ พวกเขาทุกคนพากันร้องไห้ อิมามฮุเซน(อ.) จึงได้เข้าใจว่าก่อนหน้านี้บิดาของท่านร้องไห้ทำไม หลังจากนั้น ท่านศาสดา(ศ.) จึงตั้งชื่อแก่นางว่า ซัยนับ(อ.)
Source : www.tebyan.net