อิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.) อิมามท่านที่หก ประสูติเมื่อ 17 รอบิอุลเอาวัน ฮ.ศ.83 ที่เมืองมะดีนะฮฺ ท่านอิมามถือกำเนิดตรงกับวันประสูติของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ผู้เป็นปู่ทวดของท่าน
อิมามมุฮัมมัด บากิร(อ.) บิดาของท่านมีความสุขและปลาบปลื้มยินดีอย่างยิ่งที่บุตรชายของท่านถือกำเนิดมา มารดาของท่านคืออุมมุล ฟัรวะฮฺ นอกจาก อัศ-ศอดิก แล้ว อิมามญะอฺฟัร ยังมีฉายานามอื่นอีก คือ อัล-ฟาฏิล และ อัฏ-ฏอฮิร ท่านเสียชีวิตเมื่อ 15 เชาวาล ฮ.ศ.148 ด้วยวัย 63 ปี ระยะเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งอิมาม 34 ปี
จากแหล่งข้อมูลและหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ ทำให้รู้ว่า เมื่อครั้งยังเป็นเด็กนั้น อิมามญะอฺฟัร ซอดิก (อ.) ได้ไปยังโรงเรียน และสถานศึกษาที่บิดาของท่านคืออิมามที่ 5 ได้ก่อตั้งขึ้น แต่แทนที่ท่านจะศึกษาเล่าเรียนเหมือนอย่างที่เด็กคนอื่นๆ และนักเรียนที่โตกว่าเรียนกัน ท่านกลับถกปัญหาในเรื่องยากๆ เกี่ยวกับหลักศาสนาและกฎหมายกับศึกษาที่อาวุโสกว่ามาก
ครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้ 11 ปี ท่านได้เข้าไปในชั้นเรียนของนักศึกษาที่กำลังถกเถียงกันในเรื่องดาราศาสตร์ ท่านได้สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคนยกเว้นบิดาของท่านเอง ด้วยการชี้ให้เห็นว่า โลกนี้ไม่ได้แบนราบ เพราะการที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกและตกทางตะวันตก ทำให้เกิดการเปลี่ยนกลางวันกลางคืนใน 24 ชั่วโมงนั้น เป็นไปไม่ได้ที่โลกจะแบน ตามความเห็นของท่านนั้นโลกต้องเป็นทรงกลม นักศึกษาทุกคนตกตะลึงยกเว้นบิดาของท่านที่ยิ้มและไม่ได้พูดอะไร
เรื่องนี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดยนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสห้าคน ชื่อ “The Heart of the Shia Scholarship”
บุคลิกลักษณะพิเศษของอิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.)
ตลอดชีวิตของอิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.) ก็เช่นเดียวกับอิมาม(อ.) ท่านอื่นๆ ที่ล้วนให้บทเรียนของอิสลามที่ถูกต้องและแท้จริง ตัวท่านเองก็เป็นตัวอย่างและอุทาหรณ์ในด้านคุณธรรม ศีลธรรม และแบบฉบับของอิสลาม
เราจะไม่ได้เห็นพ่อลูกคนใดในหมู่ประชาชนหรือชนเผ่าใดที่จะมีความเหมือนกันในทุกด้าน ไม่ว่าจะในแนวคิด ความคิด บุคลิกภาพ และการปฏิบัติตัว แต่ครอบครัวของศาสดาแห่งอิสลาม(ศ.) และผู้สืบทอดทุกคนของท่านนั้น ล้วนมีแบบฉบับอยู่ในรูปแบบเดียวกัน เพื่อทำหน้าที่อันสูงส่งของพวกท่านที่มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน แนวคิดเดียวกัน และไม่มีความแตกต่างแต่อย่างใดในด้านการพูด ลักษณะท่าทาง และการปฏิบัติตามหลักจริยธรรม
คุณค่าทางด้านจริยธรรมและความดีงามของอิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.) นั้นมีมากพอที่จะกล่าวได้ว่า ในบรรดาลูกศิษย์ของท่านสี่พันคนนั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์ในทางไม่ดีเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวและบุคลิกภาพทางศีลธรรมของอิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.)
ท่านเป็นตัวอย่างและอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับบรรดามุสลิมทั้งในด้าน การรับประทานอาหาร, การพักผ่อนหย่อนใจ, การเดิน, การพูด และการปฏิบัติต่อผู้อื่น
ท่านปฏิบัติตัวกับผู้อื่นด้วยการปฏิบัติที่เหมือนกัน ทั้งกับเพื่อนและลูกศิษย์
ลักษณะการสอนของอิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.)
ชักรอนี ชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีการกระทำไม่ดีชอบลักขโมย แต่การที่ปู่ทวดของเขาเคยเป็นทาสที่ได้รับการปลดปล่อยจากศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ดังนั้น ประชาชนต่างพากันคิดว่าเขามีความเกี่ยวข้องกับศาสดามุฮัมมัด(ศ.) วันหนึ่งเขาได้รู้ว่า กาหลิบมันซูร กำลังแจกทรัพย์สินในคลังหลวง เขาจึงไปที่นั่นเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่เขาไม่รู้จักใครที่จะสามารถช่วยเขาได้
ในเวลานั้นเขาเห็นอิมามญะอฺฟัร ซอดิก (อ.) เขาจึงรีบไปหาท่าน และขอให้ท่านช่วยเป็นสื่อกลางให้เขาได้รับส่วนแบ่งการแจกจ่ายของกาหลิบด้วย อิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.) จึงยอมรับคำขอร้องของเขา และไปขอรับส่วนแบ่งของเขาแล้วนำมาให้ เมื่ออิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.) มอบเงินให้แก่เขา ท่านกล่าวแก่เขาว่า
“การทำความดีของคนทุกคนเป็นสิ่งดี แต่มันจะดีกว่าถ้าเกิดมาจากเธอ ผู้มีความเกี่ยวข้องกับเรา และการทำความชั่วของทุกคนก็เป็นความชั่ว แต่มันจะชั่วร้ายยิ่งกว่าหากมันเกิดจากเธอ ผู้มีความเกี่ยวข้องกับเรา”
อิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.) กล่าวแล้วเดินจากไป ชักรอนี ยืนถือถุงเงินนั้นแล้วเริ่มครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง และได้รู้ว่าอิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.) ได้รู้ถึงพฤติกรรมชั่วของเขา และตั้งใจจะห้ามเขาด้วยคำพูดเหล่านั้น เขารู้สึกอะลายใจและตัดสินใจว่าจะต้องเลิกนิสัยไม่ดีของเขาเสีย
คำสอนของอิมามญะอฺฟัร ซอดิก(อ.)
1. มุสลิมที่พยายามทำให้ความปรารถนาของพี่น้องของเขาเป็นจริงขึ้นมา เปรียบเสมือนผู้ที่ได้ทำการต่อสู้(ญิฮาด) ในหนทางของอัลลอฮฺ
2. การชะฟาอัต(ความช่วยเหลือ) ของเราจะไม่มีไปถึงผู้ที่ไม่ใส่ใจในการนมาซ
3. ผลที่เกิดจากความรักและการยึดติดกับโลกนี้ คือความยากลำบาก ปัญหา และความเศร้าเสียใจ แต่ผลที่เกิดจากความศรัทธาและการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ในโลกนี้ คือความสะดวกสบายของร่างกายและวิญญาณ
4. จงมีเมตตาต่อบิดาและมารดาของท่าน เพื่อลูกๆ ของท่านจะได้มีเมตตาต่อท่านด้วย
5. จงวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ อย่าให้การยังชีพของท่านวางอยู่ในมือของคนอื่น
6. สัญลักษณ์ของผู้กลับกลอกมีสามประการคือ เมื่อพูด เขาจะพูดโกหก, ไม่ทำตามสัญญาและข้อผูกมัด, ยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นฝากไว้
7. จงออกห่าง(หลีกเลี่ยง) จากการอิจฉาริษยาผู้อื่น เพราะสิ่งนี้จะเป็นสาเหตุให้ท่านห่างไกลจากอัลลอฮฺ
Source : www.tebyan.net