อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) ถือกำเนิดในปีที่ 57 ของฮิจเราะฮ์ศักราช ณ นครมะดีนะฮ์ ขณะที่บิดาของท่าน คือ อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) มีอายุ 39 ปี ท่านมีนามว่า “มุฮัมมัด” สมญานามของท่านคือ “อะบูญะอ์ฟัร” และ “บากิร” หมายถึงผู้จำแนกแยกแยะ “บากิรุลอุลูม” หมายถึงผู้จำแนกแยกแยะวิชาการความรู้
มารดาของท่านคือ อุมมุอับดุลลอฮ์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของท่านอิมามฮะซัน มุจญตะบา (อ.) ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเป็นบุคคลแรกที่ทั้งบิดา และมารดา สืบเชื้อสายมาจากท่านหญิงฟาติมะฮ์ (ซ.) และท่านอิมามอะลี (อ.) โดยตรง
ช่วงเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปกครอง หรืออิมามแห่งมนุษยชาติ รวมทั้งสิ้น 18 ปี ท่านเสียชีวิตในปีที่ 114 ของฮิจเราะฮ์ศักราช และร่างของท่านถูกฝังในสุสานอันมีชื่อเสียง นั่นคือ สุสานบะกีอ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับหลุมฝังศพบิดา และท่านตา (ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ของท่าน ในนครมะดีนะฮ์
ท่านอิมามบากิร (อ.) คือผู้วางรากฐานการพัฒนาทางด้านการศึกษาของโลกอิสลาม ท่านได้เผยแพร่หลักสัจธรรม และคำสั่งสอนแห่งพระผู้เป็นเจ้า และได้อธิบายถึงปัญหาต่างๆ ทางวิชาการ และได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางด้านวิชาการอย่างกว้างขวางในสมัยของท่าน
ถึงแม้ว่า วิชาการแห่งอิสลามจะรุ่งเรืองที่สุดในยุคของท่าน อิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) แต่ผู้วางรากฐานที่แท้จริงคือ อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) นั่นเอง
ท่านอิมามบากิร (อ.) เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในหมู่บุคคลชั้นแนวหน้าของบะนีฮาชิม ในด้านวิชาการความรู้ ความสมถะ ความยิ่งใหญ่ และความประเสริฐ และตำแหน่งดังกล่าวที่ท่านมีข้างต้น ต่างเป็นที่ยอมรับในหมู่มิตรสหาย และเหล่าบรรดาศัตรู ถึงขนาดกับว่า มีคำรายงานในเรื่องของปัญหา และเรื่องศาสนบัญญัติอิสลาม ประวัติศาสตร์อิสลาม และวิชาการสาขาแขนงต่างๆ ได้ถูกรายงานมาจากท่านอิมาม ซึ่งจนในปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่
หนังสือและผลงานการเรียบเรียงโดยนักวิชาการ และนักประวัติศาสตร์จำนวนมาก เช่น ฎอบะรี , บะลาซุฮ์รีย์, ซะลามี, คอฎีบักดาดี, อะบูนุอัยน์ อิสฟาฮานี, และยังมีหนังสือต่างๆ อีกมาก เช่น มุวัฎฎออ์ ของท่านมาลิก, ซุนันอะบีดาวูด, มุซนัดอบีฮะนีฟะฮ์. มุซนัดมัรวะซี, ตัฟซีรนักกอช, ตัฟซีรซะมัคชะรี ฯลฯ จะเห็นว่ามี “มุฮัมมัด บิน อะลี กล่าว่า” หรือ “มุฮัมมัด บากิร กล่าวว่า” ปรากกฎอยู่หลายๆ ที่ด้วยกัน
อิบนิฮะญัร ฮัยตะมีย์ เป็นหนึ่งจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือ อัลศอวาอิกุลมุฮ์ริเกาะฮ์ หน้า 201 ว่า “มุฮัมมัดบากิร (อ.) คือบุคคลที่ได้เปิดขุมทรัพย์แห่งวิชาการ ที่ถูกซ่อนเร้นไว้ ท่านได้อธิบายถึงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับข้อบัญญัติ และวิทยปัญญาต่างๆ ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ ของวิชาการศาสนาได้ อย่างชัดเจนสำหรับประชาชาติ ยกเว้นเสียแต่ว่า บุคคลเหล่านั้นจะเป็นพวกหูหนวก และตาบอด หรือไม่มีความปราถนาที่จะยอมรับเท่านั้น ท่านจึงถูกขนานนามว่า ผู้ที่ทำให้วิชาการความรู้แตกฉาน และถือเป็นผู้ที่ถือธงชัยแห่งวิชาการอิสลามอย่างแท้จริง”
ณ ที่นี้เราจะยกตัวอย่างการถกวิชาการของท่านอิมามกับ หัวหน้าบาทหลวงของชาวคริสเตียนคนหนึ่ง
เหตุเกิดในวันหนึ่งเมื่อมีบาทหลวงชาวคริสเตียน ได้รวมตัวกันเพื่อถกวิชาการความรู้ และอิมามบากิร (อ.) ได้เข้าไปสู่กลุ่มชนเหล่านั้นด้วย ไม่นานนัก หัวหน้าบาทหลวงใหญ่ซึ่งชราภาพมากแล้วได้เดินเข้ามา เขาเป็นที่ยกย่อง และเคารพอย่างมากมายในที่ชุมนุมแห่งนั้น เมื่อนั้นเองที่เขาได้มองไปยังฝูงชน และเห็นท่านอิมามบากิร (อ.) ผู้ซึ่งมีใบหน้าที่ดึงดูดเขาได้มากที่สุด เขาได้หันไปหาอิมามบากิร (อ.) และกล่าว่า “ท่านเป็นชาวคริสเตียน หรือมุสลิม?
อิมามได้ตอบว่า “ฉันเป็นมุสลิม”
บาทหลวง “ท่านมาจากกลุ่มนักวิชาการของพวกมุสลิมหรือ มาจากผู้ไม่รู้?
อิมาม “ฉันไม่ได้มาจากผู้ไม่รู้”
บาทหลวง “จะให้ฉันถามก่อน หรือท่านจะเป็นผู้ถามก่อน?”
อิมาม “ถ้าหากท่านต้องการ ก็จงถามมาเถิด”
บาทหลวง “บรรดามุสลิมมีเหตุผลอะไรที่อ้างว่า ชาวสวรรค์เมื่อพวกเขากินและดื่มแล้ว จะไม่มีการขับถ่าย? มีตัวอย่างในโลกนี้ที่ชัดเจน และสามารถจะยกเป็นตัวอย่างจะได้ไหม?”
อิมาม “ใช่แล้ว มีตัวอย่างที่ชัดเจนในโลกนี้ นั่นคือ เด็กทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดา เขาได้รับอาหาร แต่เขาไม่ถ่าย”
บาทหลวง “อ้าว แปลกจริง ไหนบอกว่า ไม่ได้มาจากกลุ่มนักวิชาการ”
อิมาม “ฉันไม่ได้กล่าวเช่นนั้น แต่ฉันได้บอกว่า ฉันไม่ได้มาจากผู้ไม่รู้”
บาทหลวง “ฉันมีคำถามอื่นจะถาม”
อิมาม “เชิญถามมาได้เลย”
บาทหลวง “ท่านเอาเหตุผลมาจากไหน ในการเชื่อว่าผลไม้ และความโปรดปรานต่างๆ ในสรวงสวรรค์ไม่มีวันน้อยลง และใช้สิ่งเหล่านั้นไปขนาดไหนก็ตาม ก็ยังคงมีจำนวนเท่าเดิม ซึ่งหมายความว่ามันจะไม่ลดน้อยลงเลยใช่ไหม? ท่านสามารถยกตัวอย่างให้เราเห็นในโลกใบนี้ได้ไหม? ที่จะแสดงให้เห็นสำหรับเรื่องนี้?
อิมาม “มีซิ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากด้วย นั่นก็คือ เปลวเพลิงไฟ ถ้าหากท่านจุดตะเกียงถึงหนึ่งร้อยตะเกียงจากไฟของตะเกียงหนึ่ง ท่านก็จะพบว่าไฟของตะเกียงแรกจะยังคงเหลืออยู่ ซึ่งไฟของมันจะไม่มีวันลดน้อยลงอย่างเด็ดขาด
หัวหน้าบาทหลวงคนนั้น ได้ถามท่านอิมามอีกหลายคำถาม ที่เขาคิดว่า เป็นคำถามที่ยากที่สุดแล้ว ในทัศนะของเขา แต่เขากลับได้รับฟังคำตอบจากท่านอิมามที่ตอบได้กระจ่างชัดทุกคำถาม และเขาก็ต้องยอมรับว่าตัวเองนั้นไร้ความสามารถ และเสียหน้า เขาจึงกล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “โอ้ประชาชน พวกท่านได้นำนักวิชาการที่มีตำแหน่งสูงส่ง ซึ่งระดับการศึกษา ระดับความรู้ของเขา มีความเข้าใจ และรู้ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนามากกว่าฉันมาก เพื่อมาทำให้ฉันดูเสี่อมเสีย และทำให้บรรดามุสลิมได้รู้ว่า ผู้นำของพวกเขานั้นดีกว่า และฉลาดกว่าพวกเราอย่างนั้นหรือ? ขอสาบานต่อพระเจ้า ฉันจะไม่พูดคุยสิ่งใดกับพวกท่านอีกแล้ว และถ้าหากฉันมีชีวิตอยู่ถึงปีหน้า พวกท่านก็จะไม่ได้เห็นฉันอีก” เมื่อเขากล่าวจบเขาก็ได้ลุกออกไปจากที่นั่นทันที