“ระบอบวิลายะตุลฟะกีฮฺ” ผลลัพธ์ “วีรกรรมวันอาชูรอ”

445

นับตั้งแต่การเดินทางจากมะดีนะฮฺสู่กัรบาลาอฺ และกระทั่งการเป็นชะฮีด ใช้เวลาไม่กี่เดือน ท่านอิมามฮูเซน (อ) ได้มีบทเรียนต่างๆ อย่างมากมายนับร้อยนับพันบทเรียน เพื่อให้มนุษยชาติได้เรียนรู้ ทุกวาทกรรมทุกอิริยาบถในการเคลื่อนไหวล้วนเป็นบทเรียนแก่มวลมนุษยชาติ ในทุกชนชาติทุกเผ่าพันธุ์ในแต่ละยุคสมัย ด้วยเหตุนี้เองท่านอิมามฮูเซน (อ) เปรียบได้ดั่งรัศมีแห่งทางนำ และเป็นนาวาแห่งความปลอดภัย ดั่งวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) “ฮูเซน คือรัศมีแห่งทางนำ และเป็นนาวแห่งความปลอดภัย”

คำถามหนึ่งที่ถูกถามเป็นคำถามแรกเมื่อศึกษาวีรกรรมในวันอาชูรอคือทำไมอิมามฮูเซน (อ) ต้องลุกขึ้นปฏิวัติในวันนั้น? ในขณะที่อิมามฮูเซน (อ) มีทางเลือกอื่น อพยพไปอยู่ในอีกสถานที่หนึ่งที่ยาซีดไม่สามารถตามรังควาญได้ ทำหน้าที่เผยแพร่แนวทางอะฮฺลุลบัยต์ทำอิบาดัตแสวงหาความใกล้ชิดยังพระองค์ แต่ทำไมอิมามฮูเซน (อ) เลือกวิธีการปฏิวัติเลือด? คำถามนี้จะนำไปสู่การทำความเข้าใจเป้าหมายหลักการปฏิวัติเลือดของท่านอิมามฮูเซน (อ) ได้ดีที่สุด คำตอบมีมากมายถึงเหตุผลการปฏิวัติเลือดของท่านอิมามฮูเซน (อ) ซึ่งเราได้ฟังจากบรรดาอุลามาอฺที่ได้สอนแก่เรา โดยการนำวาทกรรมต่างๆ ของท่านอิมามฮูเซน (อ) อรรถาธิบายอย่างสมบูรณ์แบบ

ทว่ามีบางทัศนะนำเสนอว่า ท่านอิมามฮูเซน (อ) ต้องการสถาปนารัฐอิสลามที่เป็นรัฐอะฮฺลุลบัยต์เนื่องจากภารกิจของบรรดาอะอิมมะฮฺ (อ) คือการสถาปนารัฐอิสลามอะฮฺลุลบัยต์ที่จะเป็นสื่อนำมนุษยชาติเข้าสู่วิลายัตของพระองค์ได้ บ้างก็นำเสนอว่า อิมามฮูเซน (อ) ต้องการเป็นชะฮีด เนื่องจากตำแหน่งชะฮีดคือตำแหน่งที่สูงสุด และสถานการณ์ ณ วันนั้นไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการเป็นชะฮีด ทำไมกระผมนำคำตอบสองคำตอบข้างต้นมากล่าวในที่นี้ ก็เนื่องจากว่าบางกลุ่มพยายามทำให้สองคำตอบนี้เป็นวาทกรรมที่จะนำมวลมุสลิมไปสู่ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องการปฏิวัติของอิมามฮูเซน (อ) อย่างไร? ก็คือพยายามนำเสนอว่า อิมามฮูเซนแค่ต้องการเป็นผู้ปกครองรัฐจึงลุกขึ้นปฏิวัติ ทั้งๆที่อิมามฮูเซน (อ) ไม่ได้มีเป้าหมายเช่นนั้น และที่พยายามนำเสนอว่าอิมามฮูเซนแค่ต้องการเป็นชะฮีดจึงลุกขึ้นปฏิวัติ ในขณะที่ในอิสลามไม่มีคำสอนเช่นนั้น การเป็นชะฮีดเป็นสิ่งที่ดี เป็นตำแหน่งสูงสุด แต่การบุกเข้าไปให้ศัตรูสังหารโดยไม่มีเป้าหมายนั้นไม่ใช่อุดมการณ์ของอิสลาม

แต่อุดมการณ์ของอิสลามคือการเป็นชะฮีดที่จะต้องนำมาซึ่งการมีชีวิตของอิสลามด้วยเท่านั้น (เหล่านั้นคือวาทกรรมของผู้ที่ต้องการจะทำให้เรื่องราวอาชูรอเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร) ทว่าทั้ง “การสถาปนารัฐอะฮฺลุลบัยต์” และ “การเป็นชะฮีด” คือผลลัพธ์ของการปฏิวัติเลือดในวันอาชูรอต่างหาก และไม่ได้เป็นเป้าหมาย ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกเหมือนกัน แต่ถูกไม่เต็มร้อย เพราะเป้าหมายหลักของท่านอิมามฮูเซน (อ) ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับยะซีดในวันนั้น คือการ เปลี่ยนแปลงประชาชาติของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) โดยใช้วิธีการที่ดีที่สุด พลีตัวเอง และสิ่งที่ตนรัก เพื่อปูทางไปสู่การสถาปนารัฐอะฮฺลุลบัยต์ ที่สามารถจะนำมวลประชาชาติอิสลามเข้าสู่วิลายัตของอะฮฺลุลบัยต์ (อ) ทั้งในเวลานั้นและในอนาคต

ดังนั้นบทเรียนที่สำคัญที่สุด หรือเป้าหมายหลักการปฏิวัติของท่านอิมามฮูเซน (อ) คือการเปลี่ยนแปลงประชาชาติของศาสดามุฮัมมัด (ศ) ดั่งวาทกรรมของท่านอิมามฮูเซน (อ) ดังนี้

إنِّي‌ لَمْ أَخْرُجْ أَشِرًا وَلَابَطِرًا وَلَامُفْسِدًا وَلَاظَالِمًا وَإنَّمَا خَرَجْتُ لِطَلَبِ الإصْلَاحِ فِي‌ أُمَّةِ جَدِّي‌

แท้จริงฉันไม่ได้ลุกขึ้นสู้เพราะการละเมิดและการเป็นใหญ่และมิได้มาเพื่อก่อความเสียหาย และเป็นการกดขี่แท้และเป้าหมายที่แท้จริงในการลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อที่จะ“อิศละฮ์” (เปลี่ยนแปลง)อุมมะฮ์(ประชาชาติ) ของตาของฉัน” ‘อิศละฮ์’ คือการเปลี่ยนแปลง ทำของเสียให้ดี ทำสังคมให้ถูกต้อง เปลี่ยนคนชั่วให้เป็นคนดี การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความดีงาม ภาษาอัลกุรอานเรียกว่า‘อิศละฮ์’ ซึ่งไม่ว่าจะทำในเรื่องใดก็เรียกว่า ‘อิศละฮ์’ ทั้งหมด อันที่จริง การ ‘อิศละฮ์’ นั้นเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการ ‘อิศละฮ์’ ของศาสดา จะต้อง ‘ตะวักกัล’ ต่ออัลลอฮ์(ซบ.) โดยบุคคลที่จะ “อิศละฮ์” ต้องรู้และรำลึกถึงการกลับคืนสู่พระองค์อัลลอฮ์อยู่เสมอๆ

ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มร้อยว่า เป้าหมายการปฏิวัติของท่านอิมามฮูเซน (อ) คือการสถาปนารัฐอะฮฺลุลบัยต์ หรือเพื่อการเป็นชะฮีด แต่สามารถตอบได้เต็มร้อยว่า ทั้งสองคือผลลัพธ์จากการลุกขึ้นปฏิวัติในแผ่นดินกัรบาลาอฺในนาม “อิสละฮฺประชาชาติของศาสดามุฮัมมัด (ศ)” ของท่านอิมามฮูเซน (อ) ในวันนั้น ถ้าหากมองย้อนไปดูในยุคของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) เป้าหมายหลักของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ก็คือการนำมวลมนุษยชาติไปสู่ความรุ่งโรจน์แห่งการดำเนินชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) นำมาเสนอแก่มวลมนุษยชาติก็คือ บทบัญญัติต่างๆ จากพระผู้เป็นเจ้า บทบัญญัติบางส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนบุคคล เพื่อให้มนุษย์เข้าสู่การพัฒนาจิตวิญญาณเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การนมาซ การถือศีลอด การไปประกอบพิธีฮัจญ์ การจ่ายซากาต การบริจาค การใช้ชีวิตในครอบครัว ฯลฯ บทบัญญัติบางส่วนเกี่ยวข้องกับสังคม เพื่อทำให้สังคมที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่นั้นมีระบบระเบียบ และบางส่วนเกี่ยวข้องกับการปกครองรัฐ เศรษฐกิจอิสลาม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน หน้าที่ของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครองหรือรัฐ อิสลามได้นำเสนอสิ่งนี้อย่างสมบูรณ์แบบแล้วโดยท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ซึ่งถ้าหากมนุษย์มีการปฏิบัติต่อบทบัญญัติเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด มนุษย์ก็สามารถที่จะทำให้สังคมที่เขาใช้ชีวิตอยู่กลายเป็นสังคมสมบูรณ์แบบได้

และไม่ใช่แค่การนำเสนอเพียงอย่างเดียว ทว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ได้ปฏิบัติให้มนุษยชาติได้เห็นเป็นรูปธรรมอีกด้วย รัฐอิสลามถูกสถาปนาขึ้น สังคมอิสลามถูกจัดระบบระเบียบ ระบอบเศรษฐกิจอิสลามมีการดำเนินการ การต่อสู้ในหนทางของพระองค์ การจ่ายซากาต ฯลฯ ได้ถูกปฏิบัติเป็นแบบอย่างเกือบทั้งหมด กลายเป็นรัฐอิสลามที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีการลิดรอนสิทธิ ไม่มีการลักขโมย ไม่มีสิ่งอบายมุข ไม่มีความยากจน ฯลฯ อิสลามได้สถาปนารัฐอิสลามขึ้นโดยท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ในวันนั้น ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ ถ้าถามว่าเมื่ออิสลามที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) นำมา รัฐอิสลามที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) สถาปนาขึ้น สังคมที่มีระบบระเบียบแบบอิสลามถูกทำลายบิดเบือน จนส่งผลให้ประชาชาติอิสลามต้องหันเหออกจากอิสลาม

บางครั้งประชาชนหันหลังให้กับอิสลาม แต่บทบัญญัติอิสลามยังคงดำรงอยู่ ทว่าบางครั้งทั้งประชาชนหันหลังให้กับอิสลาม และบทบัญญัติของอิสลามถูกทำลายลงด้วยพร้อมๆ กัน อิสลามแท้จริงถูกแทนที่ด้วยอิสลามเทียมเท็จ อัลกุรอานถูกตีความหมายผิดๆ ผิดกลายเป็นถูก ถูกกลายเป็นผิด การทำความดีถูกยับยั้ง การทำความชั่วได้รับการส่งเสริม ฯลฯ ภารกิจของมุสลิมที่แท้จริงคืออะไร? ดังนั้นวายิบที่ยิ่งใหญ่จึงตกอยู่ในยุคของท่านอิมามฮูเซน (อ) วายิบที่ยิ่งใหญ่นี้ไม่ใช่เป็นแค่การอัมบิลมะอฺรูฟ วะนาฮีอะนิลมุนกัร ตามที่เราเข้าใจกัน มันยิ่งใหญ่กว่าการนมาซ การไปทำฮัจญ์ และการจ่ายซากาต เนื่องจากหากวายิบที่ยิ่งใหญ่นี้ไม่ถูกปฏิบัติในวันนั้น นั่นหมายถึงอิสลามมุฮัมมัดจะต้องถูกทำลายจนหมดสิ้น อิสลามของมุฮัมมัดจะเหลือแค่เพียงนาม ไร้ซึ่งชีวิตในโลกใบนี้

มีหลักฐานจากวาทกรรมของอิมามฮูเซน (อ) ที่ว่า “คงต้องกล่าว อินนาลิลละฮฺ แก่อิสลาม ถ้าหากอิสลมมีคนเช่นยาซีดเป็นผู้ปกครอง” อิมาม (อ) ต้องการที่จะสื่อให้ทราบว่า “อิสลามตกอยู่ในอันตรายยิ่งแล้วในเวลานั้น” อิมามฮุเซน (อ.) จึงได้ประกาศว่า “การลุกขึ้นมาครั้งนี้ไม่ใช่เพื่ออะไรนอกจากการอิศละฮ์”คือการปฏิบัติวายิบที่ยิ่งใหญ่ ทั้งนี้จะเรียกว่า ‘อิศละฮ์’ ได้ ก็ต่อเมื่อเป็น การทำสิ่งที่เสียหายให้ดีขึ้นท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงได้ใช้คำนี้ เหตุเพราะสังคมในวันนั้น ไม่มีความดีใดๆ หลงเหลืออยู่เลย ‘สัจธรรมคือสิ่งที่ไม่มีใครปฏิบัติ ความชั่วคือสิ่งที่มนุษย์ไม่ละเว้น” ! แล้วจะมีความชั่วใดอีกหรือ ? ที่จะชั่วช้าไปกว่า การที่บุคคลผู้เป็นลูกซีนา ที่กินเหล้าเป็นนิจสิน ทำซีนาเป็นนิจสิน ได้ขึ้นมาเป็นคอลีฟะฮ์เป็นตัวแทนของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซล.) เป็นตัวแทนของศาสนาของอัลลอฮ์(ซบ.) แต่ทำไมมวลมุสลิมทั้งปวงจึงกลับนิ่งเฉย !

อิมามฮุเซน (อ.) ได้ตอบกับ ‘มัรวาน บินฮะกัม’ และ ‘วะลีด’ เจ้าเมืองมะดีนะฮ์ว่า “อย่าได้เข้าใจผิดว่า การที่ฉันลุกขึ้นต่อสู้ เพราะฉันไม่ยอมบัยอัตเพียงเท่านั้น หากแต่จงรับรู้เถิดว่า ถึงแม้นยะซีดจะไม่บังคับให้ฉันบัยอัต ฉันก็จะลุกขึ้นสู้ เป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องลุกขึ้นสู้ ลุกขึ้นอิศละฮ์สภาพสังคมสมัยนั้น” อิศละฮ์อะไรงั้นหรือ? อิศละฮ์ประชาชาติ (อุมมัต) ของท่านตาของฉัน นั่นคืออิศละฮ์ ประชาชาติทั้งหมด การอิศละฮ์มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นก็คือเอาผู้นำที่ชั่วออกไป โดยโค่นล้มผู้นำนั้นลง ทว่าบางครั้งเมื่อโค่นล้มผู้นำที่ชั่วร้ายนั้นได้แล้ว และมีผู้นำคนใหม่ขึ้นปกครองแทนก็เป็นคนชั่วร้ายเช่นกัน นั่นเป็นเพราะมวลมนุษย์ยังไม่ถูกอิศละฮ์ ดังนั้นการที่ท่านอิมามฮุเซน(อ.) กล่าวว่า อิศละฮ์อุมมัต(ประชาชาติ) ทั้งหมด แน่นอนว่า ย่อมมีเนื้อหาและเป้าหมายที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่โค่นล้มยะซีดเท่านั้น แต่ต้องการจะสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของการโค่นล้มยะซีด และทุกคนที่เป็นเหมือนยะซีด !

ปัญหาที่ทำให้คนแบบมุอาวียะฮ์หรือยะซีดได้ขึ้นปกครอง ก็คือ สังคม และอุมมัตต่างหาก ดังนั้นจึงจะต้องเปลี่ยนสภาพอันตกต่ำของอุมมัตเสียก่อน และ หนึ่งในเป้าหมายของการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ ก็คือ การอิศละฮ์อุมมัตของศาสดามุฮัมมัด (ซล.) การปฏิวัติของอิมามฮูเซน (อ) คือการปฏิบัติสิ่งที่เป็นวายิบที่ยิ่งใหญ่ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงประชาชาติอิสลาม และวางรากฐานการสถาปนารัฐอิสลามอะฮฺลุลบัยต์ทำให้อิสลามของศาสดามุฮัมมัด (ศ) และแบบฉบับของท่าน (ศ) มีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นวายิบที่ไม่มีศาสดาองค์ใดปฏิบัติมาก่อน อิมามอะลี (อ) ก็ไม่ได้ปฏิบัติ อิมามฮาซัน (อ) ก็ไม่ได้ปฏิบัติ ที่บอกว่าไม่มีใครปฏิบัติมาก่อน และยังไม่มีใครปฏิบัตินั้น เนื่องจากสถานการณ์ไม่ถึงขั้นในการปฏิบัติวายิบที่ยิ่งใหญ่นั้นต่างหาก ทว่าหากสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นในยุคของอิมามริฎอ (อ) ท่านอิมามริฎอ (อ) ก็จะปฏิบัติวายิบที่ยิ่งใหญ่นั้นทันที

และเราก็ได้เห็นแล้วว่า สถานการณ์เช่นนั้นไม่เกิดขึ้นเลยในยุคสมัยของอะอิมมะฮฺ (อ) คนอื่นๆ กระทั่งเข้าสู่การเร้นกายของท่านอิมามมะฮฺดี (อ) การปฏิบัติวายิบที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นของท่านอิมามฮูเซน (อ) ถ้าหากมีผลลัพธ์ คือการได้สถาปนารัฐอิสลามแห่งอะฮฺลุลบัยต์ขึ้น อิมามฮูเซน (อ) ก็มีความพร้อมเต็มที่ และมีความสามารถในการปกครองรัฐได้ดีเฉกเช่นเดียวกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และท่านอิมามอะลี (อ) และถ้าหากผลลัพธ์ คือการเป็นชะฮีดท่านอิมามฮูเซน (อ) ก็มีความพร้อมเต็มที่เช่นเดียวกัน อย่างที่เราได้รับทราบแล้ว

إنِّي‌ لَمْ أَخْرُجْ أَشِرًا وَلَابَطِرًا وَلَامُفْسِدًا وَلَاظَالِمًا وَإنَّمَا خَرَجْتُ لِطَلَبِ الإصْلَاحِ فِي‌ أُمَّةِ جَدِّي

คำว่า خرجت คือการลุกขึ้น (กิยาม) ท่านอิมามได้ “กิยาม” เพื่อมีเป้าหมาย “อิสละฮฺ” ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสถาปนารัฐและเป็นผู้ปกครอง และไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อไปเป็นชะฮีด แต่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงประชาชาติของศาสดามุฮัมมัด (ศ) และการ “อิสละฮฺ” ไม่ใช่ภารกิจเล็กๆ แต่มันเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ บางครั้งทำให้ผู้นำการ “อิสละฮฺ” ได้สถาปนารัฐอิสลามและเป็นผู้ปกครองรัฐอิสลามได้ แต่บางครั้งทำให้ผู้นำและผู้ช่วยเหลือการ “อิสละฮฺ” ต้องเป็นชะฮีด อิมามฮูเซน (อ) ได้กล่าวในระหว่างทางก่อนถึงแผ่นดินกัรบาลาอฺ โดยได้นำวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ที่ว่า “ถ้าหากบุคคลใดก็ตามได้เห็นผู้ปกครองในสังคม มีการลิดรอนสิทธิและกดขี่ข่มเหงประชาชน ทำสิ่งที่เป็นอนุญาตของพระองค์ให้เป็นสิ่งต้องห้าม และทำสิ่งต้องห้ามให้เป็นสิ่งอนุญาต ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ และไม่ส่งเสริมผู้อื่นให้ทำตามบทบัญญัติของพระองค์ และเขาไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งการพูดและการกระทำ ในวันกิยามัตพระองค์จะทรงทำให้เขาได้รับโทษทัณฑ์เดียวกันกับผู้ปกครองนั้น”

….. การเลือกที่จะนิ่งเงียบต่อการพูดสัจธรรม คือชัยฎอนที่เป็นใบ้ นั่นคือแบบฉบับของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และอิมามฮูเซน (อ) และอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) คือผู้ที่ทำให้แบบฉบับของท่านศาสดา (ศ) เป็นจริงขึ้น การปฏิบัติวาญิบที่ยิ่งใหญ่ บางครั้งนำมาซึ่งการเป็นชะฮีดของนักต่อสู้ และไม่ได้สถาปนารัฐอิสลามอะฮฺลุลบัยต์ แต่เป็นการวางรากฐานไปสู่การสถาปนารัฐอิสลามอะฮฺลุลบัยต์ในอนาคต บางครั้งนักต่อสู้เป็นชะฮีดและได้สถาปนารัฐอะฮฺลุลบัยต์ขึ้นอีกด้วย คือ การปฏิวัติของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) ณ สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) ได้กล่าวว่า “การดำเนินชีวิตของท่านอิมามฮูเซน (อ) คือการดำเนินชีวิตของบรรดาอัมบิยาอฺคนแรกจนถึงคนสุดท้าย เป็นการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติเพื่อที่จะนำไปสู่การสถาปนารัฐอิสลามที่จะนำมาซึ่งความยุติธรรมและความสงบสุข”

ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) มีทัศนะว่า “วีธีการแก้ไขสังคมที่ดีที่สุด คือการที่ผู้รู้อิสลามผู้ชำนาญการด้านการเมืองการปกครองจำเป็นจะต้องร่วมมือกันสถาปนารัฐอิสลามที่แท้จริงขึ้นมา” เนื่องจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ได้มีวจนะไว้ว่า “ถ้าหากรัฐอิสลามที่แท้จริงถูกสถาปนาขึ้น และมีการบริหารจัดการอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อนั้นมนุษยชาติจะเข้าใจว่า อิสลามคืออะไร และเข้าใจว่ารัฐอิสลามคืออะไร?”

ภารกิจหลักของรัฐบาลอิสลาม

1- นำมวลประชาชาติอิสลามไปสู่อิสลามแท้จริง …. ป่าวประกาศให้มนุษยชาติรู้ว่า อิสลามคือศาสนาที่มีความยุติธรรม ไม่กดขี่ผู้อื่น ไม่มีชนชั้นวรรณะ อิสรภาพ เสรีภาพ ฯลฯ …. หรือหมายถึง การทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในอิสลาม การบิดเบือนต่างๆ ฯลฯ

2- พัฒนาระบอบเศรษฐกิจในด้านต่างๆ

3- พัฒนาระบอบสังคมไปสู่สังคมที่ดีเพื่อการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์แบบของมนุษย์

4- นำบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้ามาดำเนินการใช้อย่างเต็มรูปแบบ

และ ณ เวลานี้ การปฏิวัติของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) ที่เป็นผู้สานต่อภารกิจของการปฏิวัติอิมามฮูเซน (อ) ได้ประสพความสำเร็จในการสถาปนารัฐอิสลามแห่งอะฮฺลุลบัยต์ ขึ้นแล้วบนโลกใบนี้ มีผู้นำรัฐอิสลามอะฮฺลุลบัยต์ ที่เป็นฟะกีฮฺ หรือวิลายะตุลฟะกีฮฺ ที่กำลังปฏิบัติภารกิจต่างๆ ข้างต้นอย่างเต็มที่ ดังนั้นถ้าหากเรายอมรับการปฏิวัติของท่านอิมามฮูเซน (อ) ยอมรับการปฏิวัติของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) ในแผ่นดินอิหร่าน ถามว่าแล้วทำไมเราต้องสงสัยตีมึนกับรัฐอิสลามแห่งอะฮฺลุลบัยต์ (อ) ที่ท่านอิมามฮูเซน (อ) วางรากฐานเอาไว้ และโดยการสถานปนาของอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) ด้วยอีกเล่า???

โดย เชค มาลีกี ภักดี